
หลังทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารไปแล้วหลายสิบฉบับ หนึ่งในนั้นคือการถอนตัวออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งจะมีผล 1 ปีหลังการประกาศอย่างเป็นทางการ
การถอนตัวดังกล่าวจะทำให้สหรัฐไม่มีภาระผูกพันในการส่งเอกสาร “เป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” (Nationally Determined Contribution) หรือ NDCs และอาจทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอ่อนแอลง
นับเป็นความพยายามที่จะแยกสหรัฐออกจากกรอบความร่วมมือระดับโลก และทิ้งให้แต่ละประเทศต้องจัดการปัญหากันเอง
อย่างไรก็ดี สหรัฐยังไม่สามารถถอนตัวออกจากกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ได้ เพราะต้องอาศัยเสียงของสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐเกิน 2 ใน 3 มารับรอง
ไม่เพียงแค่ไม่ให้ความร่วมมือเท่านั้น แต่ทรัมป์ยังทำราวกับว่า Climate Change หรือวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ไม่มีอยู่จริง” อีกด้วย
โดยรัฐบาลของทรัมป์สั่งเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐบาลกลาง “ลบเนื้อหา” เกี่ยวกับ Climate Change ทำให้บนหน้าเว็บไซต์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐไม่มีเนื้อหาการประเมินความเสี่ยงไฟป่า รวมถึงไม่มีข้อมูลการปล่อยก๊าซมลพิษบนหน้าเว็บไซต์ของกระทรวงคมนาคม
ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวไม่ถือเป็นเรื่องที่ประหลาดใจนัก เนื่องจากทรัมป์เคยออกคำสั่งให้ถอดเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมัยแรก ซึ่งทำให้การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ Climate Change ลดลงถึง 40% ก่อนจะถูกฟื้นกลับในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดน
ขณะที่บรรดานักวิจัยพบว่างานศึกษาของตนหายไปจากหน้าเว็บไซต์หน่วยงานรัฐบาลกลาง อย่างไรก็ดี ภาคประชาสังคมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยการตั้งกลุ่ม Environmental Data and Governance Initiative (EDGI) เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล เอกสาร วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลของภาครัฐขึ้นมาในสมัยแรกของทรัมป์ เพื่อให้ผู้คนยังสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้
ตามรายงานของ EDGI ในปี 2018 เตือนไว้ว่า การถอดถอนข้อมูล Climate Change ออกไปไม่ได้ทำให้ความจริงเปลี่ยนไป เว้นแต่ว่าจะทำให้ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นเรื่องคลุมเครือและทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความเห็นทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น
เป้าหมายของทรัมป์คือต้องการลด “งบประมาณ” การดำเนินงานที่มองว่าไม่จำเป็นออกไป โดย “ฌอน ดัฟฟี่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสหรัฐกล่าวว่า รัฐบาลกำลังพยายามที่จะกำจัดกฎระเบียบที่มากเกินไปจนส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้สร้างภาระค่าใช้จ่ายแก่ครัวเรือนอเมริกันและไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้จริง
รวมถึงสั่งทบทวนการให้เงินสนับสนุนการวิจัยด้าน Climate Change กับหน่วยงานต่าง ๆ
ขณะที่คำสั่งฝ่ายบริหารของทรัมป์มีผลให้แผนการสมทบเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ (U.S. International Climate Finance Plan) ซึ่งในปี 2024 สหรัฐมีการสนับสนุนกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สิ้นสุดลงไปทันที
ขณะที่ในการประชุม COP29 ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน มีการบรรลุข้อตกลงงบประมาณสภาพภูมิอากาศใหม่ ซึ่งประเทศร่ำรวยให้คำมั่นว่าจะเร่งจัดหาเงินทุน 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับประเทศยากจนภายในปี 2035 เพื่อการปรับตัวจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีโอกาสเป็นไปได้น้อยลง เพราะสหรัฐเป็นกำลังสำคัญของกลุ่มธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี
อย่างไรก็ตาม การถอนตัวของสหรัฐอาจเปิดโอกาสให้กับจีน สหภาพยุโรป หรือสหราชอาณาจักร ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการรับมือวิกฤตสภาพอากาศมากขึ้น
“ไซมอน สตีล” เลขานุการบริหารของ UNFCC กล่าวในงานประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ณ กรุงดาวอสว่า “เราเคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อนแล้ว ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้ชาติอื่น ๆ ได้มีบทบาทที่สำคัญมากขึ้น”
และโลกไม่อาจหยุดยั้งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้ เพราะในปีที่ผ่านมามีการลงทุนกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ไปกับการพัฒนาพลังงานสะอาด ซึ่งมากกว่าที่ใช้ไปกับพลังงานฟอสซิลถึงสองเท่า