
นายจ้างอังกฤษ “เปิดเผยค่าจ้าง” มากสุด เมื่อเทียบกับบรรดานายจ้างอื่น ๆ ในแถบยุโรป ซึ่งช่วยลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศสภาพและเชื้อชาติ
รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า อินดีด (Indeed) แพลตฟอร์มจัดหางานซึ่งอยู่ในเครือรีครูต โฮลดิงส์ (Recruit Holdings) ของญี่ปุ่น เผยข้อมูลว่า นายจ้างอังกฤษใส่ข้อมูลเงินเดือนในประกาศหางานมากสุดในบรรดาประเทศแถบยุโรป อยู่ที่ 71% จากระดับ 48% ในปี 2019 ขณะที่นายจ้างในประเทศอื่น ๆ ค่อย ๆ เพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับเงินเดือนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน แต่ก็ยังต่างจากอังกฤษอยู่มาก โดยเยอรมนีมีสัดส่วนอยู่ที่ 16%
แจ็ก เคนเนดี้ นักเศรษฐศาสตร์จากอินดีดกล่าวว่า วัฒนธรรมของการต่อรองค่าจ้างและการเปิดเผยเงินเดือนที่ต่างกัน ทำให้แต่ละประเทศมีการใส่ข้อมูลเงินเดือนที่ต่างกันไป
ภายในปี 2026 สหภาพยุโรปจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายที่กำหนดให้นายจ้างต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนในการประกาศหางานหรือก่อนการสัมภาษณ์เบื้องต้น เพื่อลดช่องว่างค่าจ้างที่ต่างกันระหว่างเพศสภาพและเชื้อชาติ
แม้ไม่มีกฎหมายเหมือนสหภาพยุโรป แต่ในปี 2024 ที่ผ่านมา ศาลอังกฤษตัดสินให้เนกต์ (Next) บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้ามีส่วนร่วมในการกีดกันพนักงานค้าปลีกซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มีค่าจ้างต่ำกว่าพนักงานโกดังสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะเป็นตำแหน่งงานที่สร้างมูลค่าเท่ากันก็ตาม
การขาดรายละเอียดค่าจ้างที่ชัดเจน ทำให้ในบางประเทศอย่างเยอรมนี อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งแม้บางกลุ่มอาชีพจะมีข้อมูลการจ่ายค่าจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (Collective Bargaining Agreements) แล้วก็ตาม แต่กลับช่วยให้เยอรมนีมีการเผยแพร่ข้อมูลเงินเดือนเพียง 24% เท่านั้น
ตามข้อมูลจากอินดีด พบว่า ความโปร่งใสของค่าจ้างในใบประกาศรับสมัครงานแตกต่างกันไปตามภาคส่วนอุตสาหกรรม ซึ่งพบความโปร่งใสมากสุดในภาคบริการทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุและบริการพยาบาลที่ 90% ขณะที่ภาคการเงิน เทคโนโลยี และวิศวกรรม ซึ่งเป็นสายงานที่ค่าจ้างสูงและเต็มไปด้วยเพศชาย มีระดับความโปร่งใสต่ำกว่า 35%
ตำแหน่งงานในหน่วยงานภาครัฐ และตำแหน่งงานที่ได้เงินใกล้เคียงค่าแรงขั้นต่ำมีแนวโน้มเปิดเผยข้อมูลเงินเดือนมากขึ้น
อินดีดเองได้กำชับให้บรรดานายจ้างแสดงรายละเอียดข้อมูลเงินเดือนมากขึ้น แต่ใช่ว่านายจ้างทุกรายจะยินยอมโดยดี โดยเฉพาะในตำแหน่งงานเงินเดือนสูงซึ่งมีมาตรฐานและเงื่อนไขน้อยกว่าตำแหน่งงานทั่วไป
เคนเนดี้กล่าวว่า นายจ้างบางส่วนเกรงว่าจะสร้างความไม่พอใจ หากผู้คนรู้ถึงความแตกต่างด้านค่าจ้าง