สำรวจ “ต้นทุน” ของทรัมป์ ในการทำ “สงครามการค้า”

Trump's 'cost' ทรัมป์ ทำ สงครามการค้า
U.S. President Donald Trump signs executive orders in the Oval Office at the White House in Washington, U.S., January 30, 2025. REUTERS/Elizabeth Frantz
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิช

นักกวิชาการและบรรดาผู้สันทัดกรณีทางการค้าระหว่างประเทศ กำลังจับตาดู และสำรวจตรวจสอบผลกระทบอันเกิดขึ้นจากการประกาศขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกา ต่อสินค้าที่นำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน เป้าหมายสำคัญก็เพื่อจะหาคำตอบว่า สงครามการค้าที่ ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ริเริ่มในครั้งนี้ คุ้มค่าหรือไม่ และจะคลี่คลายขยายตัวออกไปในทิศทางใด

เบื้องต้น ดูเหมือนไม่มีใครเซอร์ไพรส์ กับการประกาศตั้งกำแพงภาษีในครั้งนี้ของทรัมป์เท่าใดนัก เพราะนี่คือสิ่งที่ทรัมป์เชื่อและยึดถือมาช้านาน แถมยังเป็นประเด็นสำคัญที่เขาเคยประกาศเอาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งด้วยอีกต่างหาก แต่ที่ไม่ค่อยมีใครเข้าใจกระจ่างนักก็คือ อะไรกันแน่คือเป้าหมายที่ประธานาธิบดีอเมริกันคาดหวังว่าจะได้รับจากการดำเนินการครั้งนี้ เพราะดูเหมือนทรัมป์จะมีเป้าอยู่หลายเป้าด้วยกันจนชวนสับสนว่า สหรัฐอเมริกาจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายเหล่านี้อย่างไรกันแน่

หนึ่งในเป้าหมายของทรัมป์ที่พอจะมองกันออก เป็นเรื่องของความพยายามใช้เครื่องมือทางการค้าอย่าง “กำแพงภาษี” เพื่อให้ฝ่ายตรงกันข้ามยินยอมตามความต้องการของทรัมป์ในประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องทางด้านการค้า ที่มีตั้งแต่เรื่องผู้อพยพไปจนถึงเรื่องของยาเสพติด ซึ่งดูเหมือนจะได้ผลในทันทีที่มีการประกาศ

เพราะนายกรัฐมนตรี “จัสติน ทรูโด” แห่งแคนาดา ถึงกับประกาศแต่งตั้งบุคคลให้เข้ามารับผิดชอบปัญหาเฟนตานิล โดยเฉพาะ และย้ำถึงพันธะผูกพันที่เคยให้ไว้ว่าจะใช้เงินมากขึ้นอีกหลายร้อยล้านดอลลาร์เพื่อจัดการความมั่นคงชายแดน ส่วน “คลอเดีย เชนบัม” ประธานาธิบดีเม็กซิกัน ก็รับปากจะจัดส่งหน่วยรักษาดินแดนเข้าไปประจำการตามแนวชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก เพิ่มอีกหลายหมื่นนาย แลกได้มาซึ่งระยะเวลาชะลอการบังคับใช้พิกัดอัตราภาษีศุลกากรใหม่ออกไปอีก 30 วัน

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ทรัมป์ยังต้องการให้บรรดาบริษัทต่างชาติทั้งหลาย โยกย้ายการผลิตของตนมายังสหรัฐอเมริกา ในวิดีโอคลิป ที่ทรัมป์ส่งถึงที่ประชุมเวิรลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม เขาระบุชัดเจนว่า ขอให้มาผลิตสินค้าในสหรัฐอเมริกา แล้วภาษีที่ “พวกท่าน” ต้องจ่ายจะต่ำที่สุดในโลก แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ก็เตรียมตัวง่าย ๆ รอจ่ายภาษีนำเข้าเพิ่มเท่านั้นเอง

เรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เวลา และน่าจะเป็นเป้าหมายระยะยาวเสียมากกว่า เพราะการปรับเปลี่ยน จัดระเบียบห่วงโซ่การผลิตใหม่ทั้งหมด และลงทุนในโรงงานการผลิตใหม่ ๆ นั้นเป็นโครงการระยะยาวสำหรับทุกบริษัท และมักส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สินค้าที่ได้มีราคาแพงและแข่งขันกับรายอื่นในตลาดได้น้อย ในบางกรณีถึงกับเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง

ADVERTISMENT

ตัวอย่างเช่น การหันมาปลูกมะเขือเทศ และอะโวคาโด ในสหรัฐ เพื่อแทนที่การนำเข้ามหาศาลในแต่ละปีจากเม็กซิโก แค่คิดถึงว่า ใครจะทำหน้าที่เก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้ หากทรัมป์ขับไล่แรงงานอพยพทั้งหลายออกนอกประเทศอย่างที่เคยประกาศไว้

สิ่งที่เชื่อว่า เป็นเป้าหมายของทรัมป์อีกประการก็คือ การหารายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องไปขึ้นภาษีเงินได้ภายในประเทศ ทรัมป์กล่าวไว้ในพิธีสาบานตนว่า แทนที่จะเก็บภาษีอเมริกัน กันเองเพื่อทำให้คนอื่น ๆ รวยขึ้น ทำไมเราไม่เก็บภาษีของต่างชาติให้สูงขึ้นเพื่อให้อเมริกันรวยขึ้นแทนเล่า ทรัมป์ยังอวดอ้างต่อที่ประชุมดาวอสว่า กำแพงภาษีของตนจะทำรายได้เข้ารัฐมหาศาลหลายพันล้านหรืออาจถึงล้านล้านดอลลาร์

ADVERTISMENT

แม้จะฟังแล้วดูดี แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเป็นตรงกันข้าม ข้อเท็จจริงที่ ทรัมป์ ไม่เคยพูดถึงก็คือ ในการทำสงครามการค้าครั้งก่อน เมื่อทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรก 92% ของเงินที่ได้จากการขึ้นภาษีนำเข้า หมดไปกับการนำไปใช้เพื่อชดเชยให้กับเกษตรกรอเมริกันที่ขายสินค้าตัวเองไม่ได้ เพราะมาตรการตอบโต้จากฝ่ายตรงกันข้าม หลงเหลือเงินเข้าคลังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าหากมาตรการตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์ได้ผลจริง ๆ คือช่วยลดการนำเข้า และส่งเสริมผลิตผลในประเทศมากขึ้น สุดท้ายก็แทบจะไม่เหลืออะไรให้เรียกเก็บภาษีได้อีกเช่นเดียวกัน

ในเวลาเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศยืนยันว่า การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อการกีดกันการค้า จำเป็นต้องมี “ต้นทุน” ที่ต้องจ่ายออกไปเกิดขึ้นควบคู่อยู่ด้วยเสมอ เป็นเสมือนหนึ่งราคาที่ต้องตอบแทนการดำเนินการเช่นนี้ ที่ทำให้ในที่สุดแล้ว จะทำให้มาตรการกีดกันทางการค้าก็จะไม่คุ้มค่าในที่สุด

ต้นทุนแรกสุด เรียกว่า ต้นทุนที่เกิดจากการบังคับใช้มาตรการ เช่น ในกรณีที่สหรัฐขึ้นภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากเม็กซิโกและแคนาดาที่รวม ๆ แล้วมีมูลค่าถึงปีละ 75,000 ล้านดอลลาร์ บรรดาผู้ค้าปลีกในสหรัฐก็จะผลักภาระภาษีดังกล่าวต่อไปให้กับผู้บริโภค สินค้าเหล่านั้นในสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหรืออะโวคาโด จะแพงขึ้นโดยอัตโนมัติ

ถัดมาคือ “ต้นทุน” ที่เกิดจากมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้า ในกรณีนี้การตอบโต้จากจีน ที่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐในหลายหมวดสินค้า อีก 15% และ 10%, เข้มงวดการส่งออกสินแร่สำคัญไปยังสหรัฐ และการประกาศสอบสวนบริษัทยักษ์สัญชาติอเมริกันอย่าง กูเกิล ตามมาตรการต่อต้านการผูกขาด คือตัวอย่างที่ดี เพราะหากบังคับใช้ บริษัทอเมริกันก็จะส่งออกสินค้าอย่าง ถ่านหิน, น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติเหลว และเครื่องจักรเพื่อการเกษตรไปยังจีนยากมากขึ้นทุกที เป็นต้น

ต้นทุนประการสุดท้าย จะไม่เกิดขึ้นในทันทีทันใด แต่จะเกิดขึ้นเมื่อประเทศอื่น ๆ พากัน “ลอกแบบ” สหรัฐอเมริกา อาศัยตัวอย่าง ข้ออ้างที่สหรัฐอเมริกาใช้เพื่อตั้งกำแพงภาษี มาเป็นต้นแบบในการตั้งกำแพงภาษีของตนเองขึ้นบ้าง

นักวิชาการด้านการค้าบางคนชี้ให้เห็นว่า เมื่อครั้งที่ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมต่อสหภาพยุโรปและแคนาดา เมื่อดำรงตำแหน่งสมัยแรก โดยใช้เรื่องความมั่นคงของชาติเป็นข้ออ้าง ต่อมาปรากฏว่ามีหลายประเทศใช้เหตุผลเรื่องความมั่นคงนี้ เป็นข้ออ้างในการตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าสารพัด ตั้งแต่แอลกอฮอล์ เรื่อยไปจนถึงอาหารสัตว์และกรอบประตู ถึงตอนนี้ อุปสรรคทางการค้าที่อาศัยข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของชาตินี้มีมากกว่า 90 รายการแล้ว และสามารถสร้างปัญหาโดยตรงให้กับการค้าของสหรัฐได้ในอนาคต

จนถึงขณะนี้ ดูเหมือนว่า เท่าที่ทั้งโลกทำได้ก็คือ เฝ้าจับตาดูว่าเมื่อใดทรัมป์จะได้ตระหนักว่า สิ่งที่คิดไว้นั้นไม่เพียงยากที่จะเป็นผลในทางกฏบัติเท่านั้น ยังไม่คุ้มค่าอย่างยิ่งอีกด้วย