
คอลัมน์ : นอกรอบ ผู้เขียน : รณดล นุ่มนนท์
อารีฟ จาย่า (Arif Jaya) ชายหนุ่มวัย 30 ต้น ๆ เดินออกมาจากมัสยิด ชานเมืองจาการ์ตา ภายหลังเสร็จสิ้นการทำละหมาด พร้อมกระเป๋าสะพายหลังใส่เสื้อผ้าและเครื่องใช้จำเป็น แต่ที่อารีฟแตกต่างจากคนอื่น ๆ คือไม่ใช่คนในพื้นที่ละแวกนั้น เขาเพียงมาอาศัยนอนค้างคืนที่มัสยิดดังกล่าว และเดินออกไปอย่างไม่มีจุดหมาย คิดเพียงว่าน่าจะมีมัสยิดสักแห่งหนึ่งที่สามารถอาศัยหลับนอนในคืนนี้ อารีฟไม่ได้เดินทางแสวงบุญไปตามมัสยิดต่าง ๆ แต่เป็นคนไร้บ้าน ถูกเจ้าของบ้านเช่าไล่ออก เพราะค้างค่าเช่ามาหลายเดือน 1/
คนส่วนใหญ่คงไม่ทราบว่า อารีฟเคยเป็นนักกฎหมายมือฉมังของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ในอินโดนีเซีย ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือในช่วงเวลาไม่ถึง 1 ปี ด้วยการเข้าไปเล่นการพนันออนไลน์จากเงินเริ่มต้นเพียง 5 แสนรูเปียห์ (1,000 บาท)
“ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในสังคมคนก้มหน้า ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นมือถือ โดยเฉพาะการเล่นเกม อยู่มาวันหนึ่งได้เข้าไปเล่นแอปในมือถือที่แยกแยะไม่ออกว่าเป็น Gaming หรือ Gambling ใส่เงินเล่นครั้งแรก 5 แสนรูเปียห์ แต่เล่นชนะได้กลับคืนมาถึง 15 ล้านรูเปียห์ (30,000 บาท) ภายในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง”
ทำให้อารีฟเห็นช่องทางทำเงินได้ง่าย ๆ ในช่วงพริบตาเดียว ตัดสินใจเติมเงินเข้าไปอีก 10 ล้านรูเปียห์ แต่โชคร้าย เขาแพ้ แม้กระนั้น อารีฟยังเห็นว่าโชคชะตาต้องเข้าข้าง จึงใส่เงินเพิ่มอีก 20 ล้านรูเปียห์ คราวนี้ชนะ ได้เงินกลับมา 50 ล้านรูเปียห์ ทำให้อารีฟดีใจจนลิงโลด กระโดดโลดเต้นแบบไม่อายใคร แต่เขาคาดไม่ถึงว่า วันนั้นเป็นวันที่ทำให้ชีวิตเข้าสู่ความหายนะ ติดร่างแหวงจรอุบาทว์ของพนันออนไลน์ กลายเป็นผู้ติดการพนันงอมแงมแบบโงหัวไม่ขึ้น
โนว่า ริยานติ ยูซุฟ (Nova Riyanti Yusuf) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลจิตเวช Marzoeki Mahdi ให้สัมภาษณ์ว่า “แม้การพนันออนไลน์ในอินโดนีเซียจะผิดกฎหมาย แต่ด้วยผู้ใช้โทรศัพท์สามารถเข้าไปสู่เว็บออนไลน์ได้ง่าย จึงมีการคาดการณ์ว่า ชาวอินโดนีเซียกว่า 2.7 ล้านคน เข้าข่ายติดการพนันออนไลน์ พวกเขาจะมีความรู้สึกถึงการเอาชนะ (Sense of Winning) แม้กระทั่ง ในช่วงที่เล่นแพ้ พวกเขายังหวังว่าในครั้งต่อไปจะต้องกลับมาเป็นผู้ชนะ”
องค์การอนามัยโลก (WHO) ถือว่าพฤติกรรมติดการพนันเป็นปัญหาทางจิตแบบเสพติด เรียกว่า “Pathological Gambling” ที่ต้องได้รับการบำบัด เพราะสร้างปัญหาทั้งด้านจิตใจและร่างกาย เกิดภาวะกระวนกระวาย ซึมเศร้า และไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างคนปกติ ก่อให้เกิดปัญหาสังคมในท้ายที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีคนไข้เข้ามารักษาที่โรงพยาบาล Marzoeki Mahdi กว่า 100 คน แม้จะเพิ่งเปิดทำการได้ไม่ถึง 1 เดือน
ในกรณีของอารีฟ เขาสูญเสียเงินจากการพนันออนไลน์กว่า 7 ล้านบาท เรียกว่าเล่น 10 ครั้ง ชนะเพียงครั้งเดียว จนต้องจำนองบ้าน คิดสั้นหาวิธีลัดใช้หนี้ด้วยการฉ้อโกงบริษัท ทำใบเสร็จปลอม เพื่อนำเงินลูกค้าเข้าบัญชีตนเอง แต่ในที่สุดบริษัทจับได้ ถูกไล่ออก นำไปสู่การหย่าร้างกับภรรยา กลายเป็นคนแสวงบุญ ไร้บ้านข้างถนนในกรุงจาการ์ตา
อารีฟกล่าวทิ้งท้ายว่า “ด้วยความโง่เขลาของผมแท้ ๆ ที่รักการพนันมากกว่าครอบครัว ทำให้ชีวิตครอบครัวแตกสลาย เมื่อปีที่แล้ว ลูกผมยังเรียนในโรงเรียนเอกชนชั้นดี มีอาหาร เสื้อผ้าพร้อมพลัน แต่ปัจจุบันลูกต้องทานแค่ข้าวกับเต้าหู้ ไม่กล้าไปโรงเรียน เพราะถูกเพื่อน ๆ ล้อเลียน”
เรื่องราวชีวิตของอารีฟ เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของปัญหาสังคมที่เกิดจากการพนันออนไลน์ แต่สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ การพนันออนไลน์เป็นบทเรียนที่ขมขื่น เพราะในปี 2559 ประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) ได้ออกกฎหมายให้การพนันออนไลน์เป็นสิ่งถูกกฎหมายครอบคลุม ทั้งกาสิโน ทายผลกีฬา ไปจนถึงการพนันคอมพิวเตอร์ (อีสปอร์ต)
โดยอ้างเหตุผลว่า กาสิโนที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2520 รายได้เริ่มซบเซา และนักพนันต่างนิยมเล่นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ทั้งนี้ ประธานาธิบดีดูแตร์เตได้ให้คำมั่นสัญญากับชาวฟิลิปปินส์ว่า การพนันออนไลน์จะมุ่งเป้ากับนักพนันชาวต่างชาติ
ในขณะเดียวกันจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล เอื้อประโยชน์ให้กับทุกภาคธุรกิจ ตั้งแต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงภาคบริการ ซึ่งเมื่อมีการออกใบอนุญาต ปรากฏว่ามีผู้ยื่นทำธุรกิจพนันออนไลน์ (Philippine Offshore Gaming Operators : POGOs) กว่า 300 ราย แม้ผู้ประกอบกิจการจะเป็นชาวต่างชาติ
โดยเฉพาะสัญชาติจีน แต่มีการจ้างคนฟิลิปปินส์เข้าทำงานกว่า 20,000 คน ทำหน้าที่ตั้งแต่โปรแกรมเมอร์ ไปจนถึงพนักงานทำความสะอาด โดยในปีแรกสามารถเก็บภาษีรายได้จาก POGOs กว่า 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทิศทางดูเหมือนจะเป็นไปตามที่รัฐบาลแถลงไว้
แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิดในปลายปี 2562 คนจีนที่เข้ามาทำงานใน POGOs ต่างเผ่นหนีกลับบ้าน ในขณะที่ปริมาณการเล่นพนันออนไลน์ลดลงอย่างรวดเร็ว ด้วยมาตรการกวดขัน ที่เข้มงวดขึ้นของทางการจีน ทำให้เจ้าของกิจการ POGOs ต่างต้องดิ้นรนหาทางออก เปลี่ยนโฉมจากธุรกิจพนันออนไลน์ กลายพันธุ์มาทำธุรกรรมหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต (Scamming)
เปลี่ยนจากโปรแกรมเมอร์ เป็นคอลเซ็นเตอร์ โทรศัพท์ไปหลอกลวงกลุ่มเป้าหมายให้โอนเงินผ่านบัญชีม้า ในหลากหลายรูปแบบจนกลายเป็นเครื่องฟอกเงิน ช่องทางค้ามนุษย์ และก่อให้เกิดปัญหาสังคมมากมาย โดยมีคดีอาชญากรรมร้ายแรงที่เกิดจาก Scamming มากกว่า 5,000 คดีในช่วงเวลาไม่ถึง 1 ปี
ด้วยสถานการณ์ที่พายุเริ่มก่อตัว จึงมีเสียงเรียกร้องให้มีการ “ทบทวน” การให้ใบอนุญาตการพนันออนไลน์ว่า คุ้มกับสิ่งที่สูญเสียหรือไม่ เพราะแม้ว่าจะจัดเก็บภาษีเป็นรายได้ให้รัฐกว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตัวเลขความเสียหายจากการสูญเสียนักท่องเที่ยว การลงทุนของต่างชาติที่ลดลง และปัญหาสังคม คาดว่ารวมกันสูงถึง 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
จนในที่สุดประธานาธิบดีโรมูอัลเดช มาร์กอส จูเนียร์ (Romualdez Marcos Junior) ได้ตัดสินใจแถลงต่อรัฐสภาและประชาชนชาวฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2567 ว่า “ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป POGOs จะถูกระงับใบอนุญาต ถือเป็นเรื่องที่น่าขยะแขยง ที่ผู้ประกอบการเหล่านั้นหาช่องทางในการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย
นำไปสู่การฉ้อฉลทางการเงิน เป็นเส้นทางฟอกเงิน การค้ามนุษย์ การเรียกค่าไถ่ ไปจนถึงการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรง เราต้องหยุดกิจกรรมนี้ที่มีแต่จะสร้างความหายนะและก่อให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับประเทศ” ภายหลังประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ กล่าวจบ วุฒิสมาชิกต่างพร้อมกันลุกขึ้นปรบมือ ส่งเสียงตอบรับดังกึกก้องห้องประชุมรัฐสภา
การพนันออนไลน์ถือเป็นปัญหาสังคมระดับภูมิภาค ในการประชุมร่วมระหว่างนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และผู้นำสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ณ นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 จึงได้มีแถลงการณ์ร่วมกันในการตั้งปฏิญาณต่อต้านการพนันออนไลน์ ในทุกรูปแบบ โดยจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด และถือว่าอาชญากรรมที่เกิดจากการพนันออนไลน์ เป็นอาชญากรรมที่ทุกประเทศจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
อารีฟและผู้ติดการพนันจำนวนมากกำลังเฝ้ารอหาทางออกเพื่อทำให้หลุดจากบ่วงการพนัน ในขณะเดียวกัน เราคงไม่อยากเห็นเด็กและเยาวชนตกหลุมพรางเป็นสิงห์นักพนันที่มีจุดจบแบบเดียวกับอารีฟจริงไหมครับ