ญี่ปุ่นจีดีพีไตรมาส 4/2024 โตเกินคาด หนุน BOJ ขึ้นดอกเบี้ย 

ญี่ปุ่น ภาพโดย REUTERS/Issei Kato
ญี่ปุ่น ภาพโดย REUTERS/Issei Kato

ญี่ปุ่นจีดีพีไตรมาส 4/2024 โตเกินคาด ขับเคลื่อนด้วยภาคการท่องเที่ยว แต่ค่าจ้างที่แท้จริงยังคงต่ำ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่สูง หนุน BOJ ขึ้นดอกเบี้ยต่อได้อีกหน้าร้อนนี้ 

บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น (Cabinet Office) รายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาส 4/2024 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 พบว่าญี่ปุ่นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 2.8% มากกว่าการเติบโต 1.7% ของไตรมาสก่อน และมากกว่า 1.1% ที่ประมาณการไว้ ขับเคลื่อนโดยการใช้จ่ายภาคธุรกิจและการส่งออกสุทธิ หนุนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และทำเงินเยนแข็งค่าขึ้น

แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีการเติบโตมั่นคง อย่างไรก็ตาม การส่งออกสุทธิที่เพิ่มขึ้นมา เป็นเพราะว่าญี่ปุ่นมีการนำเข้าน้อยลง ซึ่งสร้างความแคลงใจต่อสุขภาวะของอุปสงค์ภายในประเทศเป็นอย่างมาก

การบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption) เพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสดังกล่าว สูงกว่าตัวเลขประมาณการ แต่มีการเติบโตชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนในปี 2024 ยังคงต่ำกว่าระดับเมื่อสิบปีก่อน

กระนั้น ตัวเลขดังกล่าวยังคงหนุนให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นสามารถเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดระดับความผ่อนคลายทางการเงินต่อได้

ยูอิจิ โคดามะ (Yuichi Kodama) นักเศรษฐศาสตร์จากเมจิ ยาสึดะ รีเสิร์ช อินสติติว กล่าวว่า การบริโภคครัวเรือนชะลอตัวลงอย่างมาก เนื่องจากค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage) ไม่ได้ปรับขึ้นเลย ซึ่งเป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อ แต่ในภาพรวม เศรษฐกิจยังคงเติบโต ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อได้

ADVERTISMENT

ตัวเลขจีดีพีจะถูกปรับแก้ไขอีกครั้งในเดือนมีนาคม ก่อนการประชุมกำหนดดอกเบี้ยนโยบาย 1 สัปดาห์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปในช่วงฤดูร้อน 

ชิเงรุ อิชิบะ (Shigeru Ishiba) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเตรียมระบายข้าวออกจากคลังสำรองฉุกเฉิน หลังราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นกว่า 60% และอาจมีนโยบายประชานิยมเพิ่มขึ้นอีก หลังรัฐบาลเสียงข้างน้อยของอิชิบะเข้าเจรจากับพรรคฝ่ายค้านกลุ่มที่มีขนาดเล็กกว่า เพื่อล็อบบี้บรรจุนโยบายลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้น รวมถึงเรียนฟรีจนถึงมัธยมปลาย ซึ่งจะรวมอยู่ในงบประมาณประจำปีที่จะเริ่มเดือนเมษายนนี้ 

ADVERTISMENT

การส่งออกสุทธิช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในไตรมาส 3/2024 ขณะที่การนำเข้าลดลง เนื่องจากราคาพลังงานลดลง การส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หนุนโดยการใช้จ่ายที่แข็งแรงจากนักท่องเที่ยวขาเข้า (Inbound Tourist) ที่จัดประเภทอยู่ในภาคส่งออกบริการ

อิชิบะต้องการมาตรการทางเศรษฐกิจมากระตุ้นการเติบโต เนื่องจากญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากกำแพงภาษีของสหรัฐ ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามเจรจาต่อรองกับโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างหนักเพื่อหาข้อยกเว้นในการขึ้นภาษี

คาซึกิ ฟูจิโมโตะ (Kazuki Fujimoto) นักเศรษฐศาสตร์จากเจแปน รีเสิร์ช อินสติติว (Japan Research Institute) การส่งออกมีแนวโน้มที่ไม่แน่นอนเล็กน้อย แต่ภาคบริการในการท่องเที่ยวขาเข้าจะยังคงหนุนการเติบโตต่อไป แม้จะชะลอตัวลง ท้ายที่สุดแล้วการส่งออกจะเติบโตในภาพรวม

การเติบโตในไตรมาสสี่ช่วยให้ทั้งปี 2024 ญี่ปุ่นมีการเติบโต 0.1% ขัดกับที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว จีดีพีที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) แตะ 600 ล้านล้านเยน (ราว 133 ล้านล้านบาท) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สูงกว่าความสำเร็จในสมัยรัฐบาลนายกชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) เมื่อสิบปีก่อน

อย่างไรก็ตาม การเติบโตเมื่อคิดเป็นรายปีกลับชะลอตัวสุดนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19

เงินเยนที่อ่อนค่า ทำให้สินค้าญี่ปุ่นมีราคาถูกลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ขณะนี้ญี่ปุ่นมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก รองจาก สหรัฐ จีน และเยอรมนี ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าอินเดียจะแซงญี่ปุ่นในเร็ว ๆ นี้ เงินเยนอ่อนค่าลงราว 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในปี 2024 แม้จะมีการแทรกแซงจากภาครัฐหลายครั้งก็ตาม