
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ
โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลออกมาเตือนว่า นโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” เสี่ยงจะทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน (Stagflation) ซึ่งเป็นภาวะที่เงินเฟ้อสูง การว่างงานพุ่ง และเศรษฐกิจไม่เติบโต นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า สหรัฐอเมริกากำลังกลายเป็น “สถานที่ที่น่ากลัวที่สุดสำหรับการลงทุน” เพราะเป้าหมายของทรัมป์ที่จะตัดลดการใช้จ่ายของรัฐบาลด้วยการยกเลิกสัญญางานกับผู้รับเหมาต่าง ๆ ทั้งที่มีการเซ็นสัญญากับรัฐบาลไปแล้ว จะทำให้เกิดความกลัวและความเสี่ยงในการทำธุรกิจกับสหรัฐอเมริกา
สติกลิตซ์ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์เกือบทั้งหมดเห็นตรงกันว่า การขึ้นหรือการเก็บภาษีศุลกากรจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น “ผมมองเห็นภาพที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนว่า เศรษฐกิจจะชะงัก เราจะเห็นเงินเฟ้อสูง แต่เศรษฐกิจกลับอ่อนแอ ผมมองไม่เห็นว่าเศรษฐกิจจะคึกคัก เพราะเศรษฐกิจโลกจะลำบากย่ำแย่อย่างมากจากความไม่แน่นอนที่ทรัมป์สร้างขึ้น”
ก่อนหน้านี้ พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลเช่นกัน แสดงความกังวลคล้ายคลึงกันต่อแผนของทรัมป์ที่จะขึ้นภาษีศุลกากร แต่จะลดภาษีเงินได้ให้กับผู้มีรายได้สูง “คนจำนวนมากที่ลงคะแนนเลือกทรัมป์เมื่อปีที่แล้ว กำลังจะถูกต้มตุ๋นอย่างโหดร้าย”
ทั้งนี้ สัปดาห์ก่อน เงินเฟ้อของสหรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3% ทั้งที่ทรัมป์สัญญาครั้งแล้วครั้งเล่าระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งว่า จะดึงเงินเฟ้อให้ต่ำลงนับแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง
อีกด้านหนึ่ง การเดินหน้าปลดพนักงานรัฐบาลกลาง (ข้าราชการ) จำนวนมากอย่างดุเดือดและรวดเร็ว คล้ายกับการกวาดล้างอะไรสักอย่างแบบรอไม่ได้ ของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ โดยมี “อีลอน มัสก์” มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เป็นหัวหน้าทีม กำลังก่อให้เกิดคำถามว่า จะกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างไร ซึ่งก็พบว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญ มีทั้งเห็นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่บางคนก็เตือนว่า ทำให้เกิด “ความเสี่ยงใหญ่” ต่อเศรษฐกิจ
ในเดือนแรกของการเข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์เร่งลดจำนวนของพนักงานรัฐบาลกลางอย่างรวดเร็ว ทั้งในรูปของเสนอเงินชดเชยเพื่อจูงใจให้ออกและในรูปของการเลิกจ้างหรือไล่ออก ซึ่งมีรายงานว่าจากจำนวนพนักงานรัฐบาลกลาง 2.4 ล้านคน ที่ไม่ใช่พนักงานของกิจการไปรษณีย์หรือทหาร มีผู้รับข้อเสนอจ้างให้ออกไปแล้ว 7.5 หมื่นคน นอกจากนั้นยังมีการไล่ออกพนักงานที่อยู่ระหว่างทดลองงานตามหน่วยงานรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนหลายแสนคน
หากถามว่าการลดพนักงานรัฐบาลกลางจำนวนมาก จะช่วยลดขาดดุลงบประมาณได้แค่ไหน นักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่าคงช่วยได้เพียงเล็กน้อย เช่นสมมุติว่า หากมีการลดพนักงานลง 10% จากทั้งหมด 2.4 ล้านคน รัฐบาลจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้เพียง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งไม่ถึง 1% ของการใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาลกลาง ซึ่งอยู่ที่ 6.75 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2024
การลดการใช้จ่ายของรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีการจัดเก็บภาษีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น หรือปรับเปลี่ยนโครงการใหญ่อย่าง ประกันสังคม การรักษาพยาบาล การทหาร และดอกเบี้ยที่รัฐบาลจ่ายเพื่อชำระหนี้ ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของรัฐบาลในแต่ละปี
ขณะเดียวกัน การไล่ออกพนักงานจำนวนมากก็สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไปด้วย โดยจากการประเมินของ Urban Institute ซึ่งเป็นหน่วยงานถังความคิดในสหรัฐระบุว่า หากรัฐบาลทรัมป์บรรลุเป้าหมายที่จะลดพนักงานรัฐบาลลง 75% อัตราการว่างงานในพื้นที่ที่รัฐบาลกลางมีการจ้างงานมากจะพุ่งทะยาน ตัวอย่าง เช่น ในวอชิงตัน ดี.ซี. อัตราว่างงานจะพุ่งเป็น 9.6% จากปัจจุบัน 2.8%
บรรดาตัวแทนสหภาพแรงงานและนักเศรษฐศาสตร์ออกมาเตือนว่า พนักงานหลายคนที่ถูกไล่ออกด้วยคำสั่งของทรัมป์ในช่วงสัปดาห์ก่อน ล้วนเป็นคนที่ทำงานสำคัญ มีทั้งพนักงานองค์การบริหารการบินแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลการจราจรทางอากาศให้มีความปลอดภัย พนักงานองค์การอาหารและยา ที่ดูแลสูตรอาหารและยาที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก พนักงานสถาบันสุขภาพแห่งชาติที่ดูแลการให้เงินสนับสนุนการวิจัยมะเร็งและโรคอื่น ๆ พนักงานในห้องแล็บของกระทรวงเกษตรที่ทำหน้าที่ควบคุมการแพร่ระบาดไข้หวัดนก และพนักงานกรมสรรพากรที่กำลังทำงานในฤดูกาลเสียภาษี
เอเลน คามาร์ก ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพชี้ว่า การไล่ออกพนักงานจำนวนมากจนทำให้งานบริการรัฐบาลสะดุดอาจส่งผลเสียย้อนกลับไปที่ความพยายามในการประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ตัวอย่าง เช่น การลดจำนวนพนักงานกรมสรรพากรอาจทำให้การคืนเงินภาษีล่าช้า และที่สำคัญอาจทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลง เพราะการมีพนักงานน้อยลง ทำให้การโกงภาษีทำได้ง่าย เนื่องจากไม่มีกำลังเพียงพอที่จะตรวจจับผู้ที่โกงภาษี
อดัม คามินส์ และ จัสติน เบ็กลีย์ นักเศรษฐศาสตร์มูดีส์ อนาไลติกส์ ระบุว่า หน่วยงานและตำแหน่งงานที่กำลังถูกโละทิ้ง ล้วนมีบทบาทสำคัญยิ่งในการปกป้องสาธารณะ สนับสนุนสวัสดิการสังคม และเพิ่มความต้องการสินค้าของสหรัฐ “มันเพิ่มความไม่แน่นอนมากขึ้นไปอีกให้กับสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว”
ในส่วนของอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของเทสลาและสเปซเอ็กซ์ ซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลทรัมป์ เป็นหัวหอกสำคัญในการ “หั่นงบประมาณ” รัฐบาล จนทำให้คนตกงานจำนวนมากและอาจกระทบต่อสวัสดิการต่าง ๆ ก็มีราคาที่ต้องจ่าย เพราะการเข้ามายุ่งเกี่ยวการเมืองในลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน และพฤติกรรมต่าง ๆ ของเขา จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ได้ส่งผลเสียต่อความนิยมในแบรนด์ของเขา รวมทั้งภาพลักษณ์ของตัวเขาเอง จึงเกิดการต่อต้านเขาขึ้น
กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า Anonymous on Bluesky ได้จัดประท้วงตามโชว์รูมรถยนต์เทสลาทั่วสหรัฐ รวมถึงโชว์รูมหลายแห่งในต่างประเทศ โดยมีข้อความประท้วง อย่างเช่น “ขายทิ้งรถเทสลาของคุณ ขายหุ้นเทสลา ทำให้เทสลาเจ็บปวดคือการหยุดยั้งมัสก์ จะช่วยรักษาชีวิตพวกเราและประชาธิปไตยของเรา หยุดยั้งการรัฐประหารของมัสก์, เทสลาให้เงินสนับสนุนพวกฟาสซิสต์” เป็นต้น
แม้แต่ลูกจ้างของเทสลาเองก็กลัวว่า มัสก์จะทำลายแบรนด์ของบริษัท อย่างที่มีข่าวว่าในการประชุมกันของบรรดาผู้จัดการอาวุโสของเทสลาได้บ่งชี้ว่า เทสลาจะดีกว่านี้ถ้ามัสก์ลาออก
ภาพพจน์ที่ตกต่ำลงของ “เทสลา” ได้ส่งผลเสียแล้วในบางพื้นที่ เช่น ในเยอรมนี ยอดขายเดือนมกราคมมีเพียง 1,277 คัน ลดลง 60% หลังจากมัสก์ไปสนับสนุนพรรคขวาจัดของเยอรมนี จนถูกประณามว่าแทรกแซงการเมืองต่างประเทศ ส่วนที่ฝรั่งเศสลดลง 63% นอร์เวย์ลดลง 38%