ทรัมป์ลั่นภาษีจีนเพิ่ม 10 % ยันเก็บแคนาดา เม็กซิโก มีผลวันเดียวกัน 4 มีนาฯ

ภาพ รอยเตอร์

ทรัมป์กล่าวยืนยัน ภาษีศุลกากรของแคนาดาและเม็กซิโกที่สหรัฐเรียกเก็บจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มีนาคม และมีแผนเรียกเก็บภาษีศุลกากรจีนเพิ่มเติมอีก 10% ในวันเดียวกัน

บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวว่าแผนเรียกเก็บภาษีนำเข้าแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% จะมีผลในวันที่ 4 มีนาคมนี้ และจะเรียกเก็บภาษีจีนเพิ่มอีก 10% มีผลในวันเดียวกัน ความเคลื่อนไหวที่ทำให้สงครามการค้ากับหุ้นส่วนของสหรัฐทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ เวลาท้องถิ่น ทรัมป์โพสต์ในโซเชียลมีเดียว่า ยาเสพติดจากสองชาติเพื่อนบ้านยังคงเข้ามาในสหรัฐในระดับที่สูงอย่างมากและไม่สามารถยอมรับได้ ภายหลังจากทรัมป์ประกาศระงับแผนเก็บภาษีแคนาดาและเม็กซิโกชั่วคราว เนื่องจากสองประเทศประกาศเพิ่มมาตรการความปลอดภัยชายแดน แต่ล่าสุดเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระบุว่าทรัมป์ไม่พอใจเลยต่อผลการดำเนินงานของสองประเทศ

ทั้งนี้ การขึ้นภาษีแคนาดา เม็กซิโก และจีนถูกผูกโยงเข้ากับการลักลอบนำเข้าเฟนทานิล ซึ่งเป็นสารตั้งต้นยาเสพติดเข้าสหรัฐ ซึ่งข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สหรัฐตามรายงานของซีเอ็นเอ็น (CNN) ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากยาชนิดนี้ราว 90,000 รายเมื่อปีที่แล้ว มากกว่าตัวเลขชาวอเมริกันเสียชีวิตจากสงครามเวียดนาม

ภาษีศุลกากรใหม่ต่อจีนอีก 10% ที่ทรัมป์จะเรียกเก็บเพิ่มเติมจากภาษีศุลกากร 10% ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในช่วงที่ทรัมป์เลื่อนการเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อแคนาดาและเม็กซิโกออกไป ทั้งนี้ ภาษีศุลกากร 25% ใช้กับสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกทั้งหมด ยกเว้นสินค้าพลังงานจากแคนาดา ซึ่งจะถูกเรียกเก็บภาษี 10%

“ผมคิดว่าคุณจะเห็นการหยุดลักลอบส่งยาจริง ๆ เพราะประเทศต่าง ๆ ไม่ควรอนุญาตให้ยาเสพติดเข้ามาในสหรัฐอเมริกา เราจะไม่อนุญาตให้เกิดขึ้น” ทรัมป์กล่าวที่ห้องทำงานรูปไข่เมื่อ 27 กุมภาพันธ์

ADVERTISMENT

การกระทำที่เสี่ยงอันตรายของทรัมป์ทำให้ภูมิภาคอเมริกาเหนือต้องเผชิญกับสงครามการค้าอีกครั้ง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ระบุว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของสหรัฐ ทำให้เงินเฟ้อรุนแรงขึ้น และอาจก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเม็กซิโกและแคนาดา

สองประเทศรวมถึงจีนเป็นสามประเทศที่ขายสินค้าให้สหรัฐมากที่สุด หากไม่มีการผ่อนปรนในนาทีสุดท้าย ในวันที่ 4 มีนาคม จะมีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้ามูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 34 ล้านล้านบาท)

ADVERTISMENT