
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ
ท่าทีของสหรัฐอเมริกาต่อรัสเซีย ในปัญหาความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ที่เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือในชั่วข้ามคืน โดยที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” แสดงออกชัดว่าเข้าข้างและโอนอ่อนรัสเซีย ขณะเดียวกัน ก็ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับยูเครนและยุโรปที่เป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐ ไม่เพียงสร้างความช็อกให้กับพันธมิตรสหรัฐ แต่ยังสร้างความกังวลให้กับจีน ซึ่งมีความสัมพันธ์ตึงเครียดกับสหรัฐและตกเป็นเป้าใหญ่ในการเล่นงานด้วยมาตรการทางภาษี
ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ท่าทีของสหรัฐที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้จีนจับตามองและตั้งคำถามว่าการที่สหรัฐเป็นหัวหอกในการหาทางบรรลุสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีน ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พยายามสร้างขึ้นอย่างระมัดระวังอย่างไรบ้าง
ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ดูเหมือนจีนพยายามจะเล่นบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางสร้างสันติภาพยูเครน ขณะที่ทรัมป์ก็แสดงออกว่าเขาสามารถทำงานร่วมกับประธานาธิบดีจีน ด้วยการใช้เศรษฐกิจของจีนเปลี่ยนใจรัสเซียให้ยอมยุติความขัดแย้ง ซึ่งหากจีนได้เป็นผู้เล่นบทบาทนี้ ก็จะเป็นแต้มต่อสำคัญสำหรับจีนที่มีเป้าหมายหลีกเลี่ยงสงครามการค้ากับสหรัฐ
ขณะเดียวกัน ก็สอดคล้องกับความพยายามยาวนานของจีนที่จะนำเสนอตัวเองในฐานะ “ฝ่ายที่เป็นกลาง” และตัวแทนเสียงของกลุ่มประเทศ “ซีกโลกใต้” ที่พร้อมจะเป็นตัวกลางในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้ง หลังจากที่ผ่านมาจีนถูกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) กล่าวหาว่าส่งชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์สำหรับผลิตอาวุธให้รัสเซียรุกรานยูเครน
แต่ตอนนี้จีนพบว่าตัวเองทั้งไม่ได้เกี่ยวข้องในการเจรจาในฐานะพันธมิตรรัสเซีย และก็ไม่ได้เป็นตัวแทนแห่งเสียงของหนึ่งในผู้มีอิทธิพลของโลก แต่ถูกทิ้งให้อยู่วงนอก ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ที่บรรดาผู้สังเกตการณ์ระบุว่า “สร้างความประหลาดใจ” ให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่จีน และพยายามค้นหาว่าจะมีด้านดีอะไรบ้างต่อจีน
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็มีเดิมพันสูงสำหรับประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาพยายามสร้างความสัมพันธ์ทั้งส่วนตัวและระหว่างประเทศกับ “เพื่อนเก่า” อย่างปูติน เพราะเห็นว่ารัสเซียเป็นหุ้นส่วนสำคัญมากในยามที่สัมพันธ์กับตะวันตกตึงเครียด
ถึงแม้จีนจะเห็นด้วยและสนับสนุนการเจรจาระหว่างรัสเซียกับสหรัฐ ในเรื่องสันติภาพยูเครน แต่คำพูดบางอย่างของมาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐที่ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมี “ความร่วมมือด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ” ระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย ดึงดูดความสนใจจากจีนค่อนข้างมาก ว่าสหรัฐมีจุดประสงค์อะไรกันแน่
อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์สงสัยว่าสหรัฐจะสามารถทำให้ความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย เจือจางลงได้หรือไม่ เมื่อดูจากการที่พวกเขาจับมือกันแน่นในการต่อต้านสหรัฐ อีกทั้งรัสเซียก็พึ่งพาเศรษฐกิจจีนอย่างลึกซึ้ง
แต่ความกังวลว่าทรัมป์จะสามารถคลายความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียได้หรือไม่นั้น ก็ให้ดูตัวอย่างในอดีต ซึ่งสหภาพโซเวียตและจีนเกิดข้อพิพาทเขตแดนในปี 1969 ทำให้สหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน และที่ปรึกษาคือเฮนรี คิสซินเจอร์ ฉวยโอกาสจากความแตกแยกนี้สถาปนาความสัมพันธ์กับจีน เพื่อเปลี่ยนสมดุลอำนาจในยุค “สงครามเย็น” ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐ ในห้วงที่สหภาพโซเวียตแผ่ขยายอิทธิพลลัทธิคอมมิวนิสต์
ถึงแม้ประวัติศาสตร์อาจไม่ซ้ำรอย แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า หากมีเบาะแสแค่เพียงเล็กน้อยว่ามีการเปลี่ยนแปลงความภักดี ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อเป้าหมายของสหรัฐ อย่างที่ยุน ซุน ผู้อำนวยการโครงการจีนของศูนย์ Stimson ในวอชิงตัน ได้ระบุว่า ถ้าหากมีกรณีแบบเดียวกับยุคนิกสันเกิดขึ้นเพียง 30% ก็เพียงพอที่จะทำให้จีนเกิดความสงสัยในรัสเซีย
“จะทำให้สี จิ้นผิง เกิดคำถามว่า ความสัมพันธ์ที่พยายามสร้างกับรัสเซียมา 12 ปีนั้น อาจจะไม่สามารถพึ่งพาได้ อาจไม่แข็งแกร่งมั่นคงหรือไม่”
แต่หยู ปิน นักวิชาการอาวุโสของศูนย์รัสเซียศึกษา มหาวิทยาลัย East China Normal ในเซี่ยงไฮ้กลับเห็นว่าจะทำให้จีนมีความมั่นใจในสัมพันธ์กับรัสเซียมากขึ้น เพราะทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ในแบบของพวกเขาเอง ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทั้งสองมีความเชื่อมโยงด้านพื้นฐานและสถาบันที่แข็งแกร่ง อย่างที่เห็นได้จากการพยายามสร้างองค์กรระหว่างประเทศเช่น BRICS ส่วนเรื่องชายแดนพวกเขาก็เห็นว่ามีความจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพนั้นไว้
อย่างไรก็ตาม หยูชี้ว่าเรื่องที่จีนจะกังวลแทนก็คือ ทันทีที่รัสเซียและสหรัฐตกลงกันได้และบรรลุสันติภาพในยูเครนได้ในระดับหนึ่ง จะทำให้รัฐบาลสหรัฐมีเวลามาโฟกัสที่จีนมากขึ้น
ขณะเดียวกัน วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งครบรอบ 3 ปีที่รัสเซียรุกรานยูเครน ประธานาธิบดีจีนได้โทรศัพท์หาปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เป็นการโทรศัพท์ครั้งแรกนับจากรัฐบาลสหรัฐกลับหัวกลับหางนโยบายต่างประเทศ โดยหันไปอยู่ขั้วเดียวกับรัสเซีย
โดยผู้นำจีนบอกกับปูติน ซึ่งสรุปความได้ว่า ความเป็นหุ้นส่วนสำคัญระหว่างกันจะไม่ถูกสั่นคลอนโดยท่าทีอบอุ่นเป็นมิตรของสหรัฐที่มีต่อรัสเซีย
“ประวัติศาสตร์และความจริงแสดงให้เห็นว่าจีนและรัสเซียเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ไม่สามารถพรากจากกันได้ พัฒนาการด้านกลยุทธ์และนโยบายต่างประเทศของจีนและรัสเซียเป็นเรื่องระยะยาว ‘บุคคลที่สาม’ ไม่สามารถมีอิทธิพลต่อเรา”
การโทรศัพท์มีขึ้นในวันเดียวกับที่สหรัฐออกเสียงคัดค้านมติที่เสนอโดยสหภาพยุโรป ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในโอกาสครบรอบ 3 ปีการรุกรานยูเครน โดยมติของสหภาพยุโรปเสนอให้ประณามรัสเซียว่าเป็น “ผู้รุกราน” และให้ถอนทหารออกจากยูเครนทันที แต่สหรัฐกลับออกเสียงเข้าข้างรัสเซีย ซึ่งสร้างความช็อกไปทั่วโลก เพราะเป็นการกลับทิศนโยบายต่างประเทศของสหรัฐที่ดำเนินมาหลายสิบปีอย่างน่าตกตะลึง