
หลังจากที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ต้องเผชิญสงครามราคาอย่างหนักหน่วง สตาร์ตอัพผู้ผลิตรถอีวีของจีนต่างพากันถอนตัวออกจากอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ปัญหาที่ตามมาร้ายแรงกว่านั้น
เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าที่เคยล้ำสมัย กลายเป็นซากไร้ค่า ถูกทิ้งให้เป็น “Zombie Cars” เมื่อบริษัทผู้ผลิตล้มละลาย
จะทำอย่างไรหากรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดที่ใช้งานยังไม่ทันครบปี ต้องกลายเป็นรถยนต์ธรรมดา ซึ่งทำหน้าที่ได้เพียงแค่พาผู้โดยสารเคลื่อนย้ายไปสู่จุดหมายที่ต้องการเท่านั้น
ส่วนฟังก์ชั่นล้ำสมัยอื่น ๆ กลับไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไปเมื่อซอฟต์แวร์ไม่อัพเดต เช่น กุญแจบลูทูทปลดล็อกรถไม่ได้ ระบบความบันเทิงเงียบสนิท รวมถึงระบบแผนที่นำทางไม่อัพเดต จนอาจก่อให้เกิดอันตรายระหว่างเดินทางได้
นี่คือเรื่องราวตัวอย่างของ “มู่” ชาวเซี่ยงไฮ้ผู้ซื้อรถยนต์ WM Motor EX5 เมื่อปี 2022 แต่กลับต้องเผชิญประสบการณ์สุดชวนหัว เพราะบริษัท WM Motor ล้มละลายหลังจากนั้นในปี 2023
นับจากปี 2009 รัฐบาลจีนได้อุดหนุนเงินให้กับอุตสาหกรรมอีวีเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้มีสตาร์ตอัพอีวีเข้ามาแข่งขันในตลาดเป็นจำนวนมาก จนในปี 2019 จีนมีผู้ผลิตรถยนต์อีวีมากถึง 500 กว่าราย จนกระทั่งเกิดภาวะฟองสบู่รถอีวีจีน
รวมทั้งเมื่อรัฐบาลเริ่มควบคุมการเติบโต การแข่งขันราคาเพื่อแย่งชิงลูกค้าก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ดูเหมือนว่ามีเพียงยักษ์ใหญ่อย่าง “บีวายดี” (BYD) ที่ได้เปรียบในสมรภูมิการแข่งขัน จนทำให้มีมาร์เก็ตแชร์อันดับหนึ่งมากกว่า 30% ทิ้งห่างอันดับสองแบบไม่เห็นฝุ่น
ข้อมูลจาก “แอลิกซ์พาร์ตเนอร์ส” (AlixPartners) ระบุถึงแนวโน้มตลาดอีวีจีนว่า จะมีรถยนต์ไฟฟ้าจีนเพียง 19 แบรนด์เท่านั้นจากทั้งหมด 137 แบรนด์ ที่จะสามารถทำกำไรได้ภายในปี 2030 ส่วนแบรนด์ที่เหลือต้องพ่ายแพ้และออกจากอุตสาหกรรมไป
ตามข้อมูลจาก EV Volumes พบว่าในปี 2024 ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าจีนโตแกร่ง 38.2% โดยเป็นยอดขายรถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) และปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) รวมกัน 11.2 ล้านคัน จากจำนวน 8.11 ล้านคันในปี 2023
“บีวายดี” มียอดการส่งมอบเป็นอันดับหนึ่งที่ 3,520,193 คัน ทิ้งห่างอันดับสองอย่าง “วู่หลิง” (Wuling) ที่จำนวน 673,279 คัน ตามด้วยเทสลา (Tesla) มาเป็นอันดับสาม 659,012 คัน ส่วนอันดับสี่ หลี่ ออโต้ (Li Auto) 500,984 คัน และอันดับห้า จีลี่ มอเตอร์ 458,464 คัน
โดยหากมองในแง่ส่วนแบ่งทางการตลาด จะเห็นว่า บีวายดีครองตลาดสูงถึง 31.4% ขณะที่อันดับสองอย่าง วู่หลิง มีมาร์เก็ตแชร์เพียง 6% ตีคู่มากับเทสลาที่ 5.9% ตามด้วย หลี่ ออโต้ 4.5% และจีลี่ 4.1%
เมื่อยอดขายรถยนต์กระจุกตัวอยู่แต่กับแบรนด์ใหญ่ ผู้ผลิตรถรายเล็กที่สู้ต้นทุนไม่ไหวจึงพากันถอนตัวออกจากตลาด คนที่ลำบากคือผู้บริโภคที่ซื้อรถมาไม่ทันไร ทั้งตัวแทนจำหน่ายและบริการหลังการขายก็ปิดตัวลงไปเสียแล้ว เหลือไว้เพียงแต่รถยนต์ซอมบี้
เมื่อเป็นแบบนี้การหาชิ้นส่วนอะไหล่มาซ่อมแซมจึงเป็นเรื่องยาก จนอาจไม่คุ้มถ้าจะซ่อม ครั้นพอจะขายต่อ ราคามือสองกลับร่วงลงอย่างหนัก ส่งผลให้บริษัทประกันภัยบางแห่งพากันเรียกเบี้ยประกันแพงขึ้น หรือปฏิเสธการคุ้มครองไปเลย
อุทาหรณ์สำคัญครั้งนี้ ผู้ที่กำลังพิจารณาซื้อรถยนต์คันใหม่ต้องระวังไว้ให้ดี อย่าเห็นแก่ของถูกมากเกินไป แต่ต้องเลือกแบรนด์ที่มีชื่อเสียง มีความมั่นคง และมีบริการหลังการขายที่ไว้ใจได้ มิเช่นนั้นจะเจอประสบการณ์น่าสลดใจ