เศรษฐกิจอเมริกาส่อชะลอตัว ผลพวงจาก “ทรัมป์” ?

US slowing down
U.S. President Donald Trump gives a thumbs up as he returns to the White House from National Harbor following his address to the Conservative Political Action Conference (CPAC) annual meeting, on the South Lawn in Washington, D.C., U.S., February 22, 2025. REUTERS/Craig Hudson
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

“โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศอย่างอหังการในระหว่างพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อ 20 มกราคมที่ผ่านมาว่า “ยุคทองของสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นนับตั้งแต่บัดนี้”

แต่ถึงตอนนี้ บรรดานักลงทุนและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ไม่เพียงไม่สามารถสัมผัสได้ถึง “ยุคทอง” ที่ว่านี้เท่านั้น แต่ยังเกิดความรู้สึกไปในทางตรงกันข้ามอีกด้วย เมื่อตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวพากันบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของทรัมป์กำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัว เศรษฐกิจของประเทศกำลังเข้าสู่ยุคอ่อนแอ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่การมาถึงของทรัมป์ กับสารพัดนโยบายประหลาดพิกลยิ่งกระหน่ำซ้ำเติมเศรษฐกิจโดยรวมให้ทรุดตัวลงหนักข้อมากยิ่งขึ้นไปอีก

แน่นอนภายในระยะเวลาสั้น ๆ สภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจย่อมยังไม่ปรากฏให้เห็นเป็นตัวเลขที่ชัดเจน กระนั้นความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็สะท้อนออกมาให้เห็นแจ่มชัดอย่างยิ่งในผลสำรวจทางด้านเศรษฐกิจหลายต่อหลายชิ้น

ตัวอย่างเช่น การสำรวจความรู้สึก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งเคยถูกจับตามองจากนักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์โดยรวมอย่างมาก พบว่าระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2023 เลยทีเดียว

ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจอีกชิ้น ที่จัดทำแยกเป็นอิสระจากกัน นั่นคือการสำรวจความคาดหวังของผู้บริโภค โดย “คอนเฟอเรนซ์ บอร์ด” ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยทางด้านธุรกิจในสหรัฐอเมริกา โดยผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นแนวโน้มในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือความคาดหวังของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ดิ่งลงอย่างชัดเจน ลงไปอยู่ในระดับเดียวกับที่แสดงให้เห็นถึงความคาดหวังที่ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะ “ติดลบ” นั่นเอง

ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นด้วยว่า สิ่งที่ประชาชนอเมริกันวิตกกังวลใหญ่หลวงที่สุดก็คือ การที่อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง สืบเนื่องจากความกระหายใคร่อยากที่จะใช้พิกัดอัตราภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยเฉพาะหลังจากที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาออกมาประกาศจะบังคับใช้การเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดาเป็น 25% และเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 10% ในวันที่ 4 มีนาคมนี้

ADVERTISMENT

บางส่วนของความกังวลในใจผู้บริโภคอเมริกัน เริ่มแสดงออกให้เห็นเป็นพฤติกรรมในความเป็นจริงกันบ้างแล้ว ตัวอย่างเช่น ยอดขายในธุรกิจค้าปลีกเดือนมกราคมที่ผ่านมาอ่อนตัวลงอย่างไม่คาดฝัน ยอดรวมของการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนดังกล่าวลดลง 0.5% เมื่อนำไปเทียบกับช่วงหนึ่งเดือนก่อนหน้า ปริมาณการลดลงดังกล่าวถือว่าเป็นการลดลงสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปีเลยทีเดียว

นอกเหนือจากในส่วนของค้าปลีกแล้ว ความกังวลที่ว่านี้ยังแสดงออกให้เห็นได้ในส่วนของตลาดแรงงาน นั่นคือตัวเลขการอ้างสิทธิตามหลักประกันการว่างงานในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มสูงขึ้นเป็น 242,000 คน ซึ่งถือเป็นระดับการว่างงานสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2024 เป็นต้นมา

ADVERTISMENT

ในขณะเดียวกัน บรรดานักลงทุนเองก็เริ่มรับรู้ถึงความรู้สึกเชิงลบนี้แล้วเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการที่ตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยพุ่งสูงขึ้น ต้อนรับการกลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ จากความคาดหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบาย ยกเลิกระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และการยกเว้นการเรียกเก็บภาษี กลับมีดัชนีลดต่ำลงมากถึง 2%ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา หรือเฟด สาขาแอตแลนตา เพิ่งเผยแพร่คาดการณ์แนวโน้มของจีดีพีในช่วงไตรมาสแรกของปีออกมา ชี้ให้เห็นว่าจีดีพีของสหรัฐอเมริกาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2025 ติดลบมากถึง 1.5% พลิกผันจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่สัปดาห์ชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะโทษทรัมป์เพียงฝ่ายเดียวย่อมไม่ถูกต้องนัก เพราะข้อเท็จจริงที่เห็นได้ชัดก็คือ ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ยังไม่ทันที่นโยบายของผู้นำใหม่จะถูกนำมาบังคับใช้แน่นอน ยิ่งไปกว่านั้น มีความเป็นไปได้ที่ว่า การสำรวจใด ๆ ดังกล่าวข้างต้นอาจถูกการเมืองเข้าครอบงำ หากผู้ตอบเป็นเดโมแครต อารมณ์ความรู้สึกย่อมหดหู่เป็นธรรมดา เช่นเดียวกับที่ผู้ตอบเป็นผู้สนับสนุนรีพับลิกันย่อมยินดีปรีดา ตรงกันข้ามกับที่เคยรู้สึกเมื่อครั้ง โจ ไบเดน ยังเป็นประธานาธิบดี

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยภายในประเทศอยู่ในสภาวะ “สูง” ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในกรณีนี้ก็คือ ยอดขายบ้านที่กำลังจะปิดการขาย (Pending Home Sales) ในเดือนมกราคมร่วงลงถึงจุดต่ำสุด นับตั้งแต่ปี 2001 อันเป็นปีแรกที่มีการเก็บตัวเลขที่ว่านี้เลยทีเดียว

กระนั้น ผลสำรวจเหล่านี้ก็ยังมีบางส่วนที่แสดงให้เห็นแนวโน้มที่เด่นชัด และสะท้อนนัยสำคัญที่ว่า ยิ่งนานไปความกังวลในใจของนักลงทุนและผู้บริโภคนี้ก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น ตัวอย่างเช่น การที่ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงออกให้เห็นถึงท่าทีที่พร้อมที่จะใช้กำแพงภาษีเล่นงานไม่เลือกหน้า ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรหรือฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการยึดมั่นกับหลักการของลัทธิกีดกันทางการค้ามากยิ่งกว่าใคร รวมถึงแม้กระทั่งตัวทรัมป์เองเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งครั้งแรก

แนวโน้มดังกล่าวในทรรศนะของ “มอร์แกน สแตนลีย์” จะส่งผลให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อทั้งการบริโภคและการผลิตของประเทศ โดยเชื่อว่ามาตรการทางการค้าที่เอาแน่นอนไม่ได้นี้ จะส่งผลให้จีดีพีของสหรัฐอเมริกาหายไปถึง 1% อันเป็นผลมาจากการลดการบริโภคลงของผู้บริโภค พร้อม ๆ กับที่องค์กรธุรกิจก็ชะงักหรือชะลอการลงทุน

ในขณะเดียวกัน ร่างรัฐบัญญัติงบประมาณของทรัมป์ ซึ่งเพิ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ให้ความหวังในทางบวกใด ๆ โดยเฉพาะในส่วนของการลดภาษีที่หลายคนคาดหวัง เนื่องจากมีข้อกำหนดเพียงแต่การยืดเวลาการลดภาษีที่เคยใช้เมื่อปี 2017 มาใช้ โดยไม่มีการขยายฐานให้กว้างขวางขึ้นแต่อย่างใด ทั้งยังส่งผลให้การขาดดุลของสหรัฐยังมหาศาลอยู่ที่ 7% ของจีดีพีต่อไป

แม้แต่แนวโน้มโดยรวมทั่ว ๆ ไปก็ยังส่งผลเชิงลบต่อทรัมป์ เช่น แนวโน้มการออมของผู้บริโภคที่คาดว่าจะกลับมาสูงขึ้น หลังจากกระหน่ำใช้เงินออมในช่วงโควิดหมดไป ซึ่งจะทำให้การบริโภคลดลง ตลาดหลักทรัพย์ที่เคยบูมกำลังจะปรับตัวครั้งใหญ่ ยิ่งส่งผลลบต่อการบริโภคและการลงทุนมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ยังชะงักงัน เพราะอัตราดอกเบี้ยยังสูงอยู่ถึงเกือบ 7% ใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีอยู่ต่อไป

แนวโน้มเหล่านี้สามารถทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าใครจะขึ้นมาบริหารประเทศ เพียงแต่การมาของทรัมป์ทำให้การชะลอตัวเกิดเร็วขึ้นและหนักหน่วงขึ้นเท่านั้นเอง