
เศรษฐกิจโลกเดือดอีกหลังภาษีสหรัฐก๊อกสองมีผลบังคับใช้ รีดเพิ่มจากจีน-แคนาดา-เม็กซิโก และกำลังจะรีดภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียมจากทั่วโลกอัตราเพิ่มขึ้น 25% กลางเดือนมี.ค. รวมถึงเพิ่มภาษีรถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ ในเดือนเม.ย. “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อตลาดหุ้นโลกเตือนเสี่ยงเงินเฟ้อ คนที่เดือดร้อนไม่พ้นชาวอเมริกัน ด้านสภาผู้ส่งออกทางเรือไทย กังวลแข่งราคาเดือด โดยเฉพาะภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียมทำต้นทุนพุ่งสูง ขณะที่ไทยส่งออกไปสหรัฐขยายตัวต่อเนื่องเดือนที่ 16 โดยเดือนแรกปีนี้ส่งออกทะลุ 8.6 แสนล้านบาท
จากกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ลงนามเรียกเก็บภาษีนำเข้าแบบเหมารวมจากจีนเพิ่มเป็นสองเท่า มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มีนาคม 2568 โดยเรียกเก็บภาษีขึ้นเป็น 20% หลังจากเก็บรอบแรก 10% ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะที่สองประเทศเพื่อนบ้านของสหรัฐ อย่างแคนาดา และเม็กซิโก ต่างถูกเรียกเก็บเช่นกัน โดยเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 25% ยกเว้นสินค้าพลังงานจากแคนาดาที่จะถูกเรียก 10% ในวันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา
“ทรัมป์” ลุยเพิ่มเก็บภาษีเหล็ก
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายทรัมป์ยังประกาศดำเนินนโยบายการค้าอเมริกาต้องมาก่อน หรือ “America First Trade Policy” อยู่เรื่อย ๆ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศคู่ค้าทั่วโลก ล่าสุดประกาศแผนเรียกเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากทุกประเทศทั่วโลกเพิ่มอีก 25% มีผลในวันที่ 12 มีนาคม มีเพียงออสเตรเลียประเทศเดียวที่ได้รับการยกเว้น
นอกจากนี้ นายทรัมป์ยังประกาศแผนเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ ชิปเซมิคอนดักเตอร์ เภสัชภัณฑ์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เร็วสุดวันที่ 2 เมษายนนี้ และยังสั่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐสอบสวนการทุ่มตลาดในอุตสาหกรรมทองแดง และไม้แปรรูปอีกด้วย
แคนาดาเอาคืนเก็บภาษี
หลังมาตรการทางภาษีเริ่มใช้อย่างเป็นทางการ นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาออกแถลงการณ์ว่า แคนาดาพร้อมตอบโต้ด้วยภาษีศุลกากร โดยระบุว่าจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น 25% ทันที กับสินค้ามูลค่ากว่า 20,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 707,200 ล้านบาท) ในรอบแรก
ก่อนจะเรียกเก็บภาษีสินค้าเพิ่มอีก 86,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.93 ล้านล้านบาท) ในอีกสามสัปดาห์ต่อมา ซึ่งครอบคลุมสินค้าหลากประเภทมากขึ้น ทั้งรถบรรทุก รถอีวี เหล็ก อะลูมิเนียม ผักและผลไม้ และยังใช้มาตรการตอบโต้ที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มอีก เช่น การจัดหาพลังงานและแร่หายากสำคัญ
จีนดีเดย์รีดภาษีเพิ่ม 10 มี.ค.
ด้านจีนประกาศมาตรการตอบโต้ใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มีนาคม โดยเก็บภาษีนำเข้า 15% กับสินค้าไก่ ข้าวสาลี ข้าวโพด และฝ้ายจากสหรัฐ ส่วนข้าวฟ่าง ถั่วเหลือง เนื้อหมู เนื้อวัว สินค้าประมง ผลไม้ ผัก และผลิตภัณฑ์นมอีก 10% รวมถึงเพิ่มบริษัทสหรัฐอีก 10 แห่ง ลงในรายชื่อบริษัทไม่น่าเชื่อถือ และ 15 แห่งในรายชื่อควบคุมการส่งออก
จากก่อนหน้านี้ จีนขึ้นภาษีถ่านและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าจากสหรัฐเพิ่ม 15% ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐเพิ่มอีก 10% ในกลุ่มสินค้าน้ำมันดิบ เครื่องจักรกลการเกษตร รถยนต์และรถบรรทุกบางรุ่น พร้อมควบคุมการส่งออกแร่หายากอย่างทังสเตน เทลลูเรียม รูทีเนียม โมลิบดีนัม และรูทีเนียม
นอกจากนี้ จีนยังสอบสวนอัลฟาเบท บริษัทแม่กูเกิล ตามข้อกล่าวหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด และขึ้นบัญชีพีวีเอช คอร์ป. บริษัทเสื้อผ้าสัญชาติอเมริกัน ร่วมกับอิลลูมินา บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพสหรัฐให้อยู่ในรายชื่อบริษัทไม่น่าเชื่อถือ
ส่วนคลอเดีย เชนบาม ประธานาธิบดีเม็กซิโกระบุว่า สั่งให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจใช้มาตรการทางภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีตอบโต้สหรัฐ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ แต่ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมใด ๆ
“บัฟเฟตต์” เตือนเสี่ยงเงินเฟ้อ
จากมาตรการภาษีต่าง ๆ ที่สหรัฐประกาศออกมา ทำให้ นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ ผู้บริหารเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ นักลงทุนชื่อดังจากสหรัฐ กล่าววิจารณ์นโยบายกำแพงภาษีของทรัมป์ว่า อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไม่ต่างจากการทำสงคราม และเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งสุดท้ายแล้วภาระทั้งหมดจะตกอยู่ที่ผู้บริโภค
ขณะที่นายเดวิด โซโลมอน ซีอีโอโกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่จากสหรัฐ มองต่างว่า มีโอกาสน้อยมากที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอย (Recession)
เช่นเดียวกันกับความเห็นของนายสตีฟ ชวาร์ซมาน ซีอีโอแบล็กสโตน บริษัทไพรเวตอิควิตี้รายใหญ่ของโลกกล่าวว่า จากการสำรวจรายไตรมาสกับบรรดา 250 บริษัท แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังอยู่ในทิศทางที่ดี ไม่มีผู้บริหารรายใดที่ตอบแบบสำรวจคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยภายในปีนี้
ไทยกังวลภาษีเหล็กกระทบ
ส่วนประเทศไทย โดยนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า มาตรการทางภาษีของสหรัฐ และการเริ่มตอบโต้ของประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่ชัดเจนได้ สิ่งที่คาดว่าจะส่งผลแน่ชัด คือการแข่งขันราคาที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในตลาด โดยยังต้องติดตามสถานการณ์หลังขึ้นภาษีไปแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งยอมรับว่าจะมีผลต่อ Supply Chain ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างเช่น กลุ่มก่อสร้าง รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สรท.คาดการณ์ส่งออกปี 2568 เติบโตที่ 1-3% นอกจากนี้ ยังประเมินว่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 1 ของปีนี้จะยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยคาดว่าขยายตัวอยู่ที่ 7-8% การส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกในไตรมาส 2 จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะการขึ้นภาษีจากนโยบาย ทรัมป์ 2.0 จะเห็นภาพชัดมากขึ้น
ส่งออกสหรัฐขยายตัว 16 เดือน
สำหรับภาพรวมการส่งออกไทย เดือนมกราคม 2568 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YOY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 25,277.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 862,367 ล้านบาท ขยายตัว 11.8% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนมกราคมขยายตัว 11.4%) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,157.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 938,112 ล้านบาท ขยายตัว 6.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม 2568 ขาดดุลเท่ากับ 1,880.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุลในรูปของเงินบาท 75,746 ล้านบาท
ด้านการส่งออกไทยไปตลาดสหรัฐ ขยายตัว 22.4% (ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
หวั่นเหล็กทะลักกดราคาถูกลง
นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กล่าวในฐานะสมาชิก 10 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ว่าการที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีเหล็กกับประเทศเม็กซิโก ซึ่งประเทศไทยได้เคยประเมินแล้วว่าผลกระทบดังกล่าวอาจจะไม่ได้กระทบต่อไทยโดยตรงมากนัก แต่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กโดยรวมทางอ้อม นั่นหมายความว่าเหล็กจะล้นตลาดและทะลักเข้ามายังประเทศไทยจำนวนมาก ยิ่งเป็นแรงกดดันทำให้ราคาเหล็กในประเทศมีการแข่งขันที่สูงขึ้น คาดว่าราคาเหล็กจะตกต่ำลงไปอีกจากเดิม เช่น ราคาเหล็กเส้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 18 บาท อาจจะเหลือกิโลกรัมละ 15-16 บาท แน่นอนว่าเมื่อซัพพลายล้น ในขณะที่ดีมานด์ความต้องการใช้เหล็กไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยยังคงความต้องการอยู่เพียง 30% ของผลผลิตทั้งหมด เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ยังไม่เกิดขึ้นใหม่ มีเพียงงานซ่อมแซมเท่านั้น ปริมาณการใช้เหล็กจึงยังไม่มากพอ
กสิกรฯชี้ภาษีเหล็กกระทบไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐ 25% ทุกประเทศ คาดว่าผลกระทบทางตรงต่อไทยในภาพรวมจำกัดเมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักของสหรัฐ โดยผลิตภัณฑ์เหล็กและอะลูมิเนียมของไทยเสี่ยงกระทบมากกว่า เนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดส่งออกสำคัญ ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม ไทยเสี่ยงเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก
โดยสหรัฐขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม เพราะต้องการลดการนำเข้า เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศ หลังอัตราการใช้กำลังการผลิตลดต่ำกว่า 80% ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% ทุกประเทศ รวมถึงยกเลิกการยกเว้นภาษีนำเข้า และการให้โควตา มีผลตั้งแต่ 12 มี.ค. 2568 ซึ่งเป็นการปรับเงื่อนไขการเก็บภาษี “มาตรา 232” เพื่อความมั่นคงของประเทศ เมื่อปี 2561 ที่เคยขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมบางรายการ 25% และ 10% ตามลำดับ
ท่อเหล็กไทยไม่เคยโดนเก็บ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กและอะลูมิเนียมของไทยอาจได้รับผลกระทบทางตรงมากกว่าเหล็ก เนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดส่งออกสำคัญ การขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐ กระทบไทยแตกต่างกันในแต่ละรายสินค้า อาทิ เหล็ก ได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากไทยส่งออกไปสหรัฐเพียง 5% ของการส่งออกเหล็กทั้งหมด อีกทั้งสินค้าเหล็กส่วนใหญ่ของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐ เช่น เหล็กแผ่นรีดต่าง ๆ และเหล็กเส้น/ลวดเหล็ก ถูกเก็บภาษีนำเข้า 25% อยู่แล้ว จึงทำให้ผลกระทบรอบนี้ไม่มากเมื่อเทียบกับสินค้าอื่น
แต่ผลิตภัณฑ์จากเหล็กได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย หรือมีสัดส่วน 23% ของการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กทั้งหมด รวมถึงสินค้าที่ไทยส่งออกไปมาก เช่น ท่อเหล็กและเหล็กสิ่งก่อสร้าง ยังไม่เคยถูกเก็บภาษีนำเข้า 25% นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์เหล็กปลายน้ำอื่น ๆ ที่สหรัฐจะขยายขอบข่ายเพิ่มขึ้น
ส่งออก “อะลูมิเนียม” สาหัส
อะลูมิเนียมได้รับผลกระทบ เนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย หรือมีสัดส่วน 15% ของการส่งออกอะลูมิเนียมทั้งหมด โดยปัจจุบันไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า 10% และจะเพิ่มเป็น 25% ทำให้ราคาส่งออกอะลูมิเนียมของไทยแพงขึ้น ทั้งนี้ สินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐมาก ได้แก่ ฟอยล์อะลูมิเนียม และอะลูมิเนียมแผ่นบาง นอกจากนี้ ต้องติดตามผลกระทบทางอ้อมจากการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทั้งในประเทศและตลาดส่งออก ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการผลิตของไทย