
การประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติของจีน (NPC) เริ่มขึ้นแล้วในวันนี้ (5 มีนาคม) จีนกำหนดเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ประมาณ 5% โดยหนี้และการขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้น สงครามการค้ามีความเสี่ยงต่อการเติบโต ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืดทวีความรุนแรงขึ้น
รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า จีนยังคงเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2025 ที่ประมาณ 5% โดยมุ่งมั่นจัดสรรทรัพยากรทางการคลังมากขึ้นกว่าปีที่แล้วเพื่อป้องกันแรงกดดันด้านภาวะเงินฝืดและบรรเทาผลกระทบจากภาษีการค้าที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐ
เป้าหมายการเติบโตราว 5% อ้างอิงจากเอกสารการประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ซึ่งเป็นรัฐสภาตรายางของจีน
สงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นกับรัฐบาลสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังคุกคามที่จะทำลายอัญมณีเศรษฐกิจจีน ซึ่งคือระบบอุตสาหกรรม ในช่วงเวลาที่ดีมานด์ของครัวเรือนที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อหนี้ท่วมกำลังทำให้เศรษฐกิจมีความเปราะบางมากขึ้น
เจ้าหน้าที่จีนต้องเผชิญกับแรงกดดันให้กำหนดนโยบายที่เพิ่มเงินเข้ากระเป๋าผู้บริโภค และลดการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
รายงานซึ่งสัญญาว่าจะมี “แผนปฏิบัติการพิเศษ” เพื่อกระตุ้นการบริโภคของจีนยังระบุด้วยว่า จีนตั้งเป้าที่จะเพิ่มการขาดดุลงบประมาณเป็น 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2025 จาก 3% ในปี 2024
รัฐบาลกลางปักกิ่งวางแผนที่จะออกพันธบัตรกระทรวงการคลังพิเศษมูลค่า 1.3 ล้านล้านหยวน (ราว 6 ล้านล้านบาท) ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านล้านหยวน (ราว 4.6 ล้านล้านบาท) ในปี 2024 ส่วนรัฐบาลมณฑลจะได้รับอนุญาตให้ออกพันธบัตรพิเศษมูลค่า 4.4 ล้านล้านหยวน (20 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 3.9 ล้านล้านหยวน (ราว 18 ล้านล้านบาท)
จากกองทุนหนี้พิเศษของรัฐบาลกลาง 300,000 ล้านหยวน (ราว 1.3 ล้านล้านบาท) จะสนับสนุนโครงการอุดหนุนผู้บริโภคที่รัฐเพิ่งขยายเมื่อเร็ว ๆ นี้สำหรับสินค้าอย่างรถยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่น ๆ
จีนยังวางแผนที่จะใช้กองทุนหนี้พิเศษจำนวน 5 แสนล้านหยวน (ราว 2.3 ล้านล้านบาท) เพื่อเติมทุนให้กับธนาคารของรัฐขนาดใหญ่ และอีก 2 แสนล้านหยวน (ราว 9.2 แสนล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการอัพเกรดอุปกรณ์การผลิต
อัตราการเติบโตของจีน 5% เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งรัฐบาลบรรลุได้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงหลัง ถือเป็นหนึ่งในอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในโลก แต่แทบไม่รู้สึกถึงผลในระดับท้องตลาดเลย และในขณะที่จีนมีดุลการค้าเกินดุลถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 33 ล้านล้านบาท) ประชาชนจำนวนมากบ่นว่างานและรายได้ไม่มั่นคง ขณะที่นายจ้างลดราคาสินค้าและต้นทุนทางธุรกิจเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้
ผู้ผลิตในจีนต้องเผชิญกับอุปสงค์ที่อ่อนแอในประเทศและสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายกว่าในสหรัฐเสียอีก ซึ่งจีนขายสินค้าในตลาดสหรัฐมูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 13 ล้านล้านบาท) ต่อปี จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องรีบเร่งไปยังตลาดส่งออกทางเลือกทั้งหมดในเวลาเดียวกัน
ผู้ผลิตในจีนกลัวว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดสงครามราคา กดผลกำไร และเพิ่มความเสี่ยงที่นักการเมืองในตลาดใหม่ที่เป็นตลาดทางเลือกเหล่านี้จะรู้สึกว่าจำเป็นต้องสร้างกำแพงการค้าที่สูงขึ้นต่อสินค้าจีนเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศนั้น ๆ
นับตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐได้เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีก 20% โดยการเพิ่มขึ้นล่าสุด 10% นั้นเริ่มมีผลตั้งแต่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา
เดฟ ฟอง ผู้ผลิตกระเป๋านักเรียน ตุ๊กตาหมีพูดได้ เครื่องเขียน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคในจีนกล่าวว่า ผู้ผลิตกังวลว่าผู้กำหนดนโยบายจะเพิ่มภาษีอีก 10% และอีก 10% ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่
ในรายงานของรัฐบาลจีนให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงต่อไป และปรับปรุงประสิทธิภาพการลงทุน
แม้ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เช่น BYD และแพลตฟอร์ม AI Deepseek ได้ก้าวขึ้นสู่เวทีระดับโลกด้วยผลงานอันโดดเด่น แต่อลิเซีย การ์เซีย-เฮอร์เรโร หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของแนทิซัส (Natixis) บริษัทที่ให้บริการด้านการเงินสัญชาติฝรั่งเศสกล่าวว่า เป้าหมายทางเทคโนโลยีและการเติบโตของอุปสงค์ของผู้บริโภคเป็นลำดับความสำคัญที่แข่งกันและการหาจุดสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้จะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับจีนในการหลีกเลี่ยงภาวะซบเซาที่ยาวนานเช่นที่ญี่ปุ่นประสบอยู่ในขณะนี้