บทเรียนความผิดพลาดจาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ผ่านจดหมายผู้ถือหุ้น

เบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ (Berkshire Hathaway) บริษัทโฮลดิ้งขนาดใหญ่ เพื่อลงทุนถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ ซึ่งได้ถือหุ้นในบริษัทชั้นนำหลายแห่ง

และเป็นความสำเร็จในการลงทุนมาอย่างยาวนาน ภายใต้การบริหารของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” นักลงทุนระดับตำนานวัย 94 ปี ผู้มีสมญานามว่า “นักพยากรณ์แห่งโอมาฮา”

บัฟเฟตต์ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งการลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) และมักจะเข้าซื้อหุ้นในจังหวะที่เหมาะสมอยู่เสมอ ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นกิจการที่ยอดเยี่ยมและมีราคาสมเหตุสมผล ด้วยเหตุนี้การซื้อ-ขายหุ้น เข้า-ออกพอร์ตของบัฟเฟตต์จึงถูกจับตาจากสาธารณชนอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายเล็กหรือรายใหญ่ก็ตาม

และในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นประจำปี (2025) ของบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ ฉบับล่าสุด ก็ถูกเฝ้ารอจากนักลงทุนเช่นกัน ซึ่งเชื่อกันว่าอาจเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายแล้วที่บัฟเฟตต์จะเป็นผู้เขียนด้วยตัวเอง ก่อนต้องวางมือลงจากอาณาจักรลงทุนตามที่เคยประกาศไว้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้

จดหมายดังกล่าวว่าด้วยผลประกอบการในปีที่ผ่านมา บทเรียนการลงทุน และมุมมองในอนาคต ซึ่งบัฟเฟตต์กลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์อันยาวนาน

โดยยอมรับความผิดพลาดและสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา บัฟเฟตต์เขียนในจดหมายว่า นอกจากภาระหน้าที่ของบริษัทมหาชนที่ต้องแจ้งผลดำเนินงานแก่ผู้ถือหุ้นแล้ว บัฟเฟตต์มองว่าเขามีความจำเป็นที่จะต้องมอบความเห็นเพิ่มเติมแก่นักลงทุน ซึ่งถือเป็นเจ้าของบริษัทร่วมเช่นกัน

ADVERTISMENT

บัฟเฟตต์ยอมรับอย่างจริงใจ ว่าตัวเขาก็เคยตัดสินใจผิดพลาดเหมือนกัน จากอคติในการตัดสินใจ จนเป็นเหตุให้มีการจัดสรรเงินทุนผิดพลาด โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่อาจเทียบได้เลยกับความผิดหวัง ซึ่งอาจรุนแรงกว่าผลกระทบที่เป็นตัวเงินเสียอีก

โดยระหว่างปี 2019-2023 บัฟเฟตต์ได้เขียนถึงเรื่องที่บ่งถึงความผิดพลาดไป 16 ครั้ง ซึ่งนับว่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับบรรดาบริษัทใหญ่อื่น ๆ ซึ่งมักจะหลีกเลี่ยงการแสดงออกถึงความล้มเหลว

ADVERTISMENT

ข้อต่อมา บัฟเฟตต์ย้ำว่า “การถือหุ้น” เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า “ถือเงินสด” เสมอ และการซื้อหุ้นที่มีกิจการแข็งแรงคือหนทางที่ดีที่สุดในการสร้างความมั่งคั่ง เพราะว่าเงินสดมีแต่จะเสื่อมค่าลงเรื่อย ๆ ผ่านการดำเนินงานของภาครัฐ ขณะที่พันธบัตรมอบผลตอบแทนตายตัว ซึ่งไม่อาจป้องกันภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนได้ ต่างจากการถือหุ้น เนื่องจากภาคธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนกิจการไปตามภาวะเศรษฐกิจได้

ถึงแม้อย่างนั้น เบิร์กเชียร์ก็ยังคงถือเงินสดกว่า 334,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 11.24 ล้านล้านบาท) เมื่อสิ้นปี 2024 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 163,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.49 ล้านล้านบาท) เมื่อสิ้นปี 2023 มากขึ้นเป็นสองเท่า มากสุดตลอดกาล ทั้งในแง่มูลค่าและสัดส่วนการถือครอง เมื่อนับตั้งแต่ปี 1998 นั่นเป็นเพราะว่าโอกาสซื้อหุ้นดี ๆ ไม่ได้มีบ่อย ๆ และต้องอดทนรอให้เป็น

บัฟเฟตต์ยังแสดงความถ่อมตนต่อตลาดหุ้นสหรัฐด้วยว่า ที่เบิร์กเชียร์สามารถประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ได้ เป็นเพราะสหรัฐมีโครงสร้างของระบบทุนนิยมที่แข็งแรงอยู่แล้ว โดยตลอดระยะเวลาก่อตั้งประเทศกว่า 235 ปีที่ผ่านมา ชาวอเมริกันต่างพากันลงทุนทำธุรกิจคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ จนเกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจขึ้น ซึ่งบัฟเฟตต์เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงเติบโตต่อไป แม้จะไม่มีเบิร์กเชียร์ก็ตาม

บัฟเฟตต์ทิ้งท้ายว่าเบิร์กเชียร์พร้อมจะจ่ายภาษีมากขึ้น เพื่อให้รัฐบาลนำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือผู้ที่ต้องเผชิญความยากลำบาก ซึ่งไม่ใช่ความผิดของพวกเขาเลย ก่อนจะปิดท้ายด้วยข้อความเตือนว่า รัฐบาลสหรัฐควรจะดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบและรักษาเสถียรภาพของสกุลเงินไว้ให้ดี