เงินเฟ้อจีน ลดลงต่ำกว่าศูนย์ ครั้งแรกในรอบปี

ภาพ รอยเตอร์

เงินเฟ้อจีนลดลงต่ำกว่าศูนย์เป็นครั้งแรกในรอบปี ดัชนี CPI เดือนกุมภาพันธ์ลดลง 0.7%  มากกว่าคาดการณ์อย่างมาก

บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ปรับตัวลงมากกว่าคาดอย่างมาก ลดลง 0.7% ซึ่งต่ำกว่าศูนย์เป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน เป็นสัญญาณของแรงกดดันด้านเงินฝืดต่อเศรษฐกิจ

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม เวลาท้องถิ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลง 0.7% จากปีก่อน เทียบกับการเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในการสำรวจโดยบลูมเบิร์ก ซึ่งค่ากลางประมาณการไว้ว่าจะลดลง 0.4%

ตามข้อมูลของโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ระบุว่า แม้จะปรับตามผลกระทบของวันหยุดตรุษจีนที่ปีนี้มาเร็วกว่าปกติแล้ว อัตราเงินเฟ้อก็ยังชะลอตัวลงสู่ระดับที่อ่อนแอที่สุดในรอบหลายเดือน และราคาบริการที่ลดลง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ติดลบซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เป็นสัญญาณของการบริโภคที่ซบเซา

ดัชนี CPI พื้นฐานของจีน ซึ่งไม่รวมสินค้าที่มีความผันผวน เช่น อาหารและพลังงานลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2021 โดยลดลง 0.1% ซึ่งถือเป็นครั้งที่สองที่ดัชนีนี้หดตัวในรอบกว่า 15 ปี ภาวะเงินฝืดในภาคการผลิตในโรงงานขยายเวลานานถึง 29 เดือน

“เศรษฐกิจของจีนยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินฝืด” จื้อเว่ย จาง ประธานและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทพินพอยต์ แอสเซท แมแนจเมนต์ ซึ่งจัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์กล่าว และว่าความต้องการภายในประเทศยังคงอ่อนแอ

ADVERTISMENT

สำนักงานสถิติจีนกล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงคือผลของฐานที่สูงจากปีก่อน ซึ่งเกิดจากราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน เทศกาลดังกล่าวเป็นวันหยุดยาวที่เลื่อนวัน ซึ่งปกติตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ 2024 แต่ปีนี้หยุดยาวตรุษจีนเร็วขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างวันที่ 28 มกราคมถึง 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เดวิด คู นักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์กระบุว่า ข้อมูล CPI ของจีนในเดือนกุมภาพันธ์ต่ำกว่าที่คาดไว้ แสดงให้เห็นถึงอุปสงค์ที่ลดลงและความจำเป็นเร่งด่วนของผู้กำหนดนโยบายในการดำเนินการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ให้คำมั่นไว้โดยเร็ว หากไม่ได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายทางการเงินและการคลังอย่างเข้มแข็ง แรงกดดันด้านภาวะเงินฝืดจะยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อไป

ADVERTISMENT

จีนได้กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี และขณะนี้มีเป้าหมายที่จะผลักดันการเติบโตของดัชนีราคาผู้บริโภคให้อยู่ที่ประมาณ 2% ในปี 2025 ซึ่งลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ 3% นับเป็นสัญญาณว่าผู้นำระดับสูงของจีนในที่สุดก็ได้ตระหนักถึงแรงกดดันเงินฝืดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเสียที โดยดัชนีราคาผู้บริโภคติดอยู่ที่เพียง 0.2% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา

รัฐบาลจีนมีความเร่งด่วนมากขึ้นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในการประชุมสภาประจำปีเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา จีนได้ประกาศเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทะเยอทะยานประมาณ 5% ในปี 2025 แม้จะมีภัยคุกคามจากสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้นกับสหรัฐ ซึ่งจีนได้วางแผนกระตุ้นทางการคลังและการบริโภคภายในประเทศด้วย