
ดูแตร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ถูกจับกุมที่สนามบิน ตามหมายจับศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) จากนโยบายทำสงครามต่อต้านยาเสพติด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาหลายพันคน
รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า โรดริโก ดูแตร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) จากสงครามต่อต้านยาเสพติด
เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ารวบตัวนายดูแตร์เตที่สนามบินนานาชาตินินอย อากีโน ซึ่งเป็นสนามบินหลักของประเทศ ภายหลังเดินทางกลับมาจากฮ่องกงเมื่อ 11 มีนาคม ขณะนี้ดูแตร์เตอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฐานทัพอากาศวิลลามอร์ ด้าน ICC จะดำเนินการสอบสวนในข้อกล่าวหาต้องสงสัยกระทำอาชญากรรมที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับบทบาทของดูแตร์เตในการกำกับดูแลสงครามยาเสพติดนองเลือดที่คร่าชีวิตชาวฟิลิปปินส์ไปหลายพันคน

เมื่อวาน (10 มีนาคม) ดูแตร์เตกล่าวที่ฮ่องกงว่า เขาพร้อมที่จะถูกจับกุมหากศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับ และได้กล่าวปกป้องการปราบปรามยาเสพติดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งเขาปฏิเสธว่าไม่ได้สั่งให้ตำรวจสังหารผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด เว้นแต่จะทำเพื่อป้องกันตัว
ซัลวาดอร์ ปาเนโล อดีตที่ปรึกษากฎหมายของดูเตอร์เต กล่าวว่า การจับกุมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตำรวจไม่อนุญาตให้ทนายความของเขาคนหนึ่งพบกับดูแตร์เตที่สนามบิน
ดูแตร์เตถอนฟิลิปปินส์ออกจากสนธิสัญญาก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศในปี 2019 เมื่อ ICC เริ่มดำเนินการสืบสวนข้อกล่าวหาการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ และฟิลิปปินส์ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับการสอบสวนของ ICC จนกระทั่งปีที่แล้ว ทางการได้ให้ความร่วมมือกับ ICC ภายใต้ประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งมีข่าวความขัดแย้งระหว่างสองตระกูลดูแตร์เตและมาร์กอสมาเป็นระยะ จนกระทั่งซารา ดูแตร์เต รองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์และบุตรสาวดูแตร์เต ซึ่งอาจลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2028 ถูกสภาผู้แทนราษฎรลงมติถอดถอนจากตำแหน่งจากปมทุจริตติดสินบนเมื่อต้นปีนี้
“สงครามกับยาเสพติด” เป็นนโยบายโดดเด่นที่ทำให้ดูแตร์เตก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2016 ในฐานะนายกเทศมนตรีที่ไม่ยอมประนีประนอมและปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งทำตามสัญญาที่ให้ไว้ระหว่างการกล่าวปราศรัยด้วยถ้อยคำรุนแรงและแข็งกร้าวว่าจะสังหารผู้ค้ายาเสพติดหลายพันคน
ตามรายงานของตำรวจ มีผู้ต้องสงสัย 6,200 รายถูกสังหารระหว่างปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งตำรวจระบุว่าจบลงด้วยการยิงต่อสู้ แต่นักเคลื่อนไหวกล่าวว่าความเสียหายที่แท้จริงจากการปราบปรามนั้นมากกว่านั้นมาก โดยมีผู้เสพยาในสลัมหลายพันคน ซึ่งหลายคนอยู่ในบัญชีรายชื่อ “เฝ้าระวัง” อย่างเป็นทางการ เสียชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เป็นปริศนา แต่ตำรวจปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการสังหารดังกล่าว และปฏิเสธข้อกล่าวหาของกลุ่มสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการสังหารและการปิดบังข้อมูลอย่างเป็นระบบ