
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
ขณะที่ผู้นำของประเทศอย่างเม็กซิโก และแคนาดา พยายามติดต่อกับ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อเจรจาหาทางออกในทันทีที่ทรัมป์ประกาศการขึ้นอัตราภาษีศุลกากร ที่เรียกเก็บจากการนำเข้าสินค้าที่สหรัฐอเมริกานำเข้าจากประเทศเหล่านั้น แต่ผู้นำของประเทศที่ตกเป็นเหยื่อกำแพงภาษีอีกรายอย่าง “จีน” กลับนิ่งเฉย และดูเหมือนไม่มีทีท่าว่าจะทำอย่างเดียวกันนั้นในไม่ช้าไม่นานนี้อีกด้วย
ท่าทีของทางการปักกิ่ง ซึ่งตกอยู่ในสภาพทำสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีกับรัฐบาลอเมริกันมาต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต่างจากแคนาดา และเม็กซิโก ที่ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาอยู่ในสภาพของมิตรประเทศใกล้เคียง สะท้อนให้เห็นว่า ทางการจีนกำลังเลือกที่จะใช้วิธีการรับมือที่ต่างออกไปในการทำสงครามการค้ากับทรัมป์ครั้งนี้
โดยการแสดงออกให้เห็นชัดเจนว่า จะไม่มีการเจรจาใด ๆ เกิดขึ้น ตราบเท่าที่ทั้งสองประเทศยังไม่ใช่ประเทศคู่เจรจาที่มีสถานะเท่าเทียมกัน
ที่ผ่านมา ผู้นำระดับสูงของจีนพากันแสดงท่าทีเปิดกว้าง พร้อมที่จะเจรจาหารือในประเด็นขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา แต่ในขณะที่แสดงออกเช่นนั้น ทางการจีนก็สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เตรียมการให้พร้อมในทุก ๆ ด้าน
โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการตอบโต้ในระดับสมน้ำสมเนื้อ สำหรับงัดออกมาใช้ได้ในทันทีที่ต้องการ ซึ่งรวมทั้งมาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ จากสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศใช้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการตอบโต้กำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกาที่ขยับสูงขึ้นจากเดิมถึง 20% แล้ว ในชั่วระยะเวลาเพียง 7 สัปดาห์ที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
ซุน หยุน ผู้อำนวยการแผนกจีน ประจำศูนย์สติมสัน องค์กรวิชาการอิสระในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นว่า เมื่อทางการวอชิงตันเลือกที่จะขยายมาตรการตั้งกำแพงภาษี ทำให้จีนมองว่าฝ่ายตนไม่มีทางเลือกอื่นใดหลงเหลืออยู่อีก นอกจากใช้มาตรการตอบโต้ทำนองเดียวกัน เขาย้ำไว้ว่า นั่นไม่ได้หมายความว่า จีนไม่ต้องการเจรจารอมชอม แต่ทางการจีนไม่อยากให้ถูกมองว่า ฝ่ายตนเป็นฝ่ายต้องร้องขอความเมตตา จากฝ่ายตรงกันข้ามเท่านั้นเอง
ข้อสังเกตดังกล่าว สอดคล้องกับความรู้สึกร่วมทั่วไปที่ว่า เมื่อเศรษฐกิจจีนรุ่งเรือง ขยายตัวส่งผลให้กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ทางการจีนก็มีความทะยานอยากในอันที่จะก้าวไปสู่สถานะชาติมหาอำนาจ ได้รับการยอมรับทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ที่ทุกชาติต้องให้ความเคารพนับถือ โดยเฉพาะการนับถือจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนถือว่าเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า จีนนั้นเข้มแข็งและรุ่งเรืองอย่างแท้จริง
ภายใต้กรอบคิดเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกที่เมื่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 10% เพิ่มเติมจาก 10% เดิมที่เคยประกาศขึ้นก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการของจีนจากกระทรวงการต่างประเทศก็คือ “ถ้าสหรัฐอเมริกาต้องการสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามภาษี, สงครามการค้า หรือสงครามชนิดอื่นใดก็ตาม เราก็พร้อมที่จะสู้รบจนกว่าจะถึงจุดสุดท้าย”
ผู้เชี่ยวชาญที่รู้เรื่องดีระบุว่า นับตั้งแต่ทรัมป์เริ่มเปิดฉากสงครามการค้ากับจีนเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2018 ที่สร้างความปั่นป่วน โกลาหลขึ้นในจีน เมื่อต้องเร่งหามาตรการตอบโต้ หลังจากนั้นทางการจีนก็เริ่มพัฒนาทั้งคลังคู่มือการใช้กำแพงภาษี, มาตรการจำกัดการนำเข้า, มาตรการควบคุมการส่งออก, การแซงก์ชั่น, วิธีการทบทวนข้อกำหนดกฎเกณฑ์ เรื่อยไปจนถึงวิธีการจำกัดการทำธุรกิจของบริษัทต่างชาติในจีนขึ้นมาเป็นคลังแสงทางการค้า มีจุดมุ่งหมายเพื่อก่อให้เกิดความเจ็บปวด เสียหายให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและธุรกิจของอเมริกันโดยเฉพาะขึ้นมา
การเตรียมพร้อมดังกล่าว ทำให้ทางการจีนสามารถประกาศมาตรการตอบโต้ออกมาได้อย่างทันทีทันควัน แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นเมื่อมีการขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรต่อสินค้าที่นำเข้าจากจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางการจีนก็ประกาศชุดมาตรการตอบโต้ออกมาในทันที ซึ่งรวมถึงการเพิ่มภาษีการนำเข้าสินค้าเกษตรอเมริกันสูงสุดถึง 15%, การระงับการนำเข้าไม้จากสหรัฐอเมริกา และการขึ้นบัญชีดำ 15 บริษัทอเมริกัน เป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญอย่าง “แดเนียล รัสเซล” จากสถาบันนโยบายสังคมเอเชีย ชี้ให้เห็นว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ครองอำนาจต่อเนื่องในจีน ตั้งแต่เมื่อครั้งทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำเป็นครั้งแรกเรื่อยมาจนถึงขณะนี้ กลายเป็นความได้เปรียบในการวางแผน กำหนดนโยบายอย่างต่อเนื่อง รัสเซลเชื่อว่า สี จิ้นผิง เป็นคนตัดสินใจเองว่า
ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะติดต่อเจรจากับทรัมป์ เขาเชื่อว่า คนอย่างสี จิ้นผิง ไม่มีวันที่จะเดินเข้าสู่โต๊ะเจรจา ในเมื่อรู้ว่า ตนอาจถูกก่อกวนหรือทำให้อับอายขายขี้หน้า หรือถูกกำหนดให้เป็นตัวประกอบ ด้วยเหตุนี้วิธีการของจีนจึงจะยังคงเป็นการตอบโต้แบบทันทีทันควัน สมน้ำสมเนื้อ ในทุก ๆ ครั้งที่ทางสหรัฐอเมริกากำหนดชุดมาตรการออกมาเล่นงาน
เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา “หวัง อี้” รัฐมนตรีการต่างประเทศของจีน กล่าวเอาไว้ชัดเจนอย่างยิ่งในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ว่า ประเทศไหน ๆ ก็ตาม ไม่ควรจินตนาการไปว่า สามารถกดขี่ ควบคุมจีนไว้ในกำมือได้ ในขณะที่พยายามพัฒนาความสัมพันธ์อันดีซึ่งกันและกัน
“พฤติกรรมสองหน้าเช่นนั้น ไม่เพียงไม่ส่งผลดีต่อเสถียรภาพของความสัมพันธ์ทวิภาคีเท่านั้น ยังไม่สามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันขึ้นมาได้อีกด้วย” หวัง อี้ ระบุ พร้อมกับเสริมเอาไว้ด้วยว่า จีนยินดีที่จะร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาเสมอ แต่ถ้าสหรัฐเลือกใช้วิธีการกดดัน จีนก็พร้อมจะตอบโต้อย่างหนักแน่นเช่นเดียวกัน
สก็อต เคนเนดี นักวิชาการจากสถาบันศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศ ในวอชิงตัน ตั้งข้อสังเกตว่า จีนไม่ได้ตกอกตกใจกับยุทธวิธีครั้งใหม่ของทรัมป์ เพราะเห็นมาบ่อยครั้ง ทั้งยังคาดหวังไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้นอีกต่างหาก ที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนแม้จะชะลอตัวลง แต่ก็ยังขยายตัว
ที่สำคัญก็คือทางการจีนยังพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการค้าขึ้นกับอีกหลายประเทศ สร้างความหลากหลายให้กับการส่งออกและนำเข้าผลิตภัณฑ์ของตนเอง เช่น การนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลและอาร์เจนตินา แทนสหรัฐอเมริกา ทั้งยังทำให้สัดส่วนของสินค้าจีนที่ส่งไปยังสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ถือได้ว่า เตรียมตัวพร้อมสำหรับดูดซับผลกระทบและการเผชิญหน้ากับสงครามการค้าได้ดีกว่าเมื่อหลายปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว