
ทรัมป์เลือกไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี (Michael George DeSombre) อดีตทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐในกิจการเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก แทนที่แดเนียล คริเทนบริงค์ นักการทูตอาวุโส ส่วนสำคัญและมีบทบาทนำของทีมเอเชียในรัฐบาลทรัมป์ 2.0
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐโพสต์แจ้งผ่านทางโซเชียลมีเดียเมื่อ 12 มีนาคม เวลาท้องถิ่นระบุว่า ผมยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่าเอกอัครราชทูตไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐด้านกิจการเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก
ทรัมป์กล่าวอีกว่า ในการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของตน ไมเคิลดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย และทำผลงานได้ดีเยี่ยม และทรัมป์เผยถึงประวัติของทูตไมเคิลว่า เคยเป็นหัวหน้าฝ่ายควบรวมและซื้อกิจการในเอเชีย รวมถึงฝ่ายเกาหลีและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำเร็จการศึกษาเกียรตินิยมอันดับสองจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (เศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณ) และปริญญาโท (การศึกษาด้านเอเชียตะวันออก) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับกลยุทธ์อาวุธนิวเคลียร์ของจีน
ในสมัยแรก ทรัมป์แต่งตั้งดีซอมบรี ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยในระหว่างปี 2020-2021 ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นการแต่งตั้งทางการเมือง มิใช่มาจากข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศหรือนักการทูตโดยอาชีพ นับเป็นทูตสหรัฐประจำประเทศไทยประเภทแต่งตั้งทางการเมืองคนแรกนับตั้งแต่ปี 1975 หรือในรอบกว่า 40 ปี

ดีซอมบรีเป็นนักกฎหมายธุรกิจที่มีชื่อเสียง ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการควบรวมกิจการ การซื้อกิจการ และการเจรจา เขาเป็นหุ้นส่วนที่สำนักงานกฎหมายซัลลิแวน แอนด์ ครอมเวลล์ แอลแอลพี (Sullivan & Cromwell LLP) ในปี 2004 โดยมีลูกค้า ได้แก่ โกลด์แมน แซกส์ (Goldman Sachs), แอนไฮเซอร์-บุช อินเบฟ (Anheuser-Busch InBev) และ บริษัทเครดิตสวิส (Credit Suisse)
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า ดีซอมบรีเป็นผู้บริจาคเงินรายใหญ่ให้พรรครีพับลิกัน และเข้ามาในช่วงที่สหรัฐตัดสิทธิจีเอสพี (GSP) ไทย
สมัยเป็นทูต ดีซอมบรียังกล่าวว่า เขาจะสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศเป็นหลัก โดยเน้นที่การลงทุนของอเมริกาและโครงการโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทานของไทย
สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งคนไทยค่อนข้างรู้จัก คือ แดเนียล รัสเซล ซึ่งได้เยือนไทยในปี 2558 ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และได้แสดงความกังวลถึงสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนั้น ในการกล่าวปาฐกถาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งผลให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นแสดงความกังวลและผิดหวัง