
ในวันที่ 13 มีนาคม ตามเวลาท้องถิ่น รัฐสภายุโรปเตรียมโหวตรับรองร่างญัตติไทยส่งกลับอุยกูร์ ใช้การเจรจา FTA เป็นเครื่องต่อรองกดดันให้ไทยปฏิรูปกฎหมายรวมถึงปล่อยนักโทษการเมือง
ที่ประชุมสมาชิกรัฐสภายุโรปจะมีการอภิปรายและรับรองญัตติร่วมในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย กรณีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112) และการเนรเทศผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ โดยในร่างมติมีเนื้อหาดังนี้
รัฐสภายุโรป
– โดยอ้างอิงข้อบังคับที่ 150(5) และ 136(4) ของระเบียบการประชุม
ก. จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์จำนวน 40 คนกลับไปยังประเทศจีน ทำให้พวกเขาเผชิญความเสี่ยงต่อการกักขังโดยพลการ การทรมาน และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ขณะที่มีประเทศที่ปลอดภัยอื่น ๆ เสนอที่จะรับชาวอุยกูร์เข้าประเทศ
ข. ก่อนถูกส่งตัวกลับ ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ถูกกักขังในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นเวลายาวนานกว่าทศวรรษ โดยมีรายงานว่ามีชาวอุยกูร์อย่างน้อย 5 ราย รวมถึงเยาวชน เสียชีวิตจากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
ค. กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ภายใต้มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นหนึ่งในกฎหมายที่เข้มงวดที่สุดในโลก และไม่ได้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นประเทศภาคี
ง. ตั้งแต่ปี 2563 มีนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนจำนวน 1,960 ราย ซึ่งเป็นเยาวชนกว่า 280 คน ถูกตั้งข้อหาหรือพิพากษาลงโทษจากการแสดงความคิดเห็นด้วยกฎหมายที่กำจัดเสรีภาพในการแสดงออกนั้น รวมถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กฎหมายยุยงปลุกปั่น กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยมีนักเคลื่อนไหวที่เป็นที่รู้จักนายอานนท์ นำภา นายมงคล ถิระโคตร และอัญชัญ ปรีเลิศ ถูกตัดสินจำคุกอย่างไม่เป็นธรรมสำหรับการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โดยบางคนเผชิญกับโทษจำคุกสูงสุดถึง 50 ปี
จ. ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงการเลือกตั้งมากที่สุด โดยสมาชิกผู้แทนราษฎรจากพรรคดังกล่าวจำนวน 44 ราย ถูกดำเนินคดีจากการเสนอแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ในขณะเดียวกันสมาชิกผู้แทนราษฎรหลายราย รวมถึง นายปิยรัฐ จงเทพ นางสาวรักชนก ศรีนอก และนางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว กำลังถูกดำเนินคดีทางกิจกรรมและถ้อยแถลงทางการเมืองของพวกเขา
รัฐสภายุโรปจึงมีมติดังนี้
1.ประณามการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับไปที่จีน และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยยุติการบังคับส่งตัวผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย รวมถึงผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองกลับไปยังประเทศต้นทางที่พวกเขาเสี่ยงที่จะเผชิญกับอันตราย
2.เรียกร้องให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) เข้าถึงตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ทั้งหมดอย่างไม่มีข้อจำกัด และเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานะของพวกเขาอย่างโปร่งใส
3.เรียกร้องให้จีนเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งตัวกลับประเทศ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของพวกเขา อนุญาตให้สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) สามารถเข้าถึงตัวพวกเขาได้ และปล่อยตัวชาวอุยกูร์ที่ถูกกักขัง
4.เรียกร้องให้ไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951 และพิธีสารปี 1967 ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปฏิรูปให้กระบวนการลี้ภัยในไทยมีความโปร่งใส ยุติธรรมและมีมนุษยธรรม
5.ขอเน้นย้ำว่าไทยเป็นประเทศหุ้นส่วนที่สำคัญของสหภาพยุโรป ขอให้ไทยดำเนินการส่งเสริมให้สถาบันต่าง ๆ ของประเทศ สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและมีมาตรฐานตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 และกฎหมายอื่น ๆ ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ ไปจนถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง
6.เรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมแก่สมาชิกผู้แทนราษฎร และนักเคลื่อนไหวที่ถูกดำเนินคดีหรือถูกจำคุกจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมถึงกฎหมายที่กำจัดเสรีภาพอื่น ๆ
7.เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปใช้การเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นเครื่องมือเพื่อกดดันให้ไทยปฏิรูปกฎหมายที่กำจัดเสรีภาพ ซึ่งรวมถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ยุติการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ และให้สัตยาบันอนุสัญญาหลักองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ทั้งหมด และขอเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรประงับการดำเนินการภายใต้สนธิสัญญาการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน
8.มอบหมายให้ประธานรัฐสภาสหภาพยุโรป ส่งข้อมตินี้ไปยังคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรป รวมถึงรัฐบาลไทยและจีนด้วย
ที่มา มติชน