สภายุโรป EU โหวตท่วมท้น ประณามไทยส่งอุยกูร์กลับจีน งัด FTA กดดัน

ภาพ เอพี

สมาชิกสภายุโรปลงคะแนนรับรองญัตติประณามไทยเรื่องการส่งชาวอุยกูร์ไปยังจีนด้วยเสียงสนับสนุนท่วมท้น 482 ต่อ 57 เสียง 

เว็บไซต์วอยซ์ออฟอเมริกา (VOA) ภาคภาษาไทย สื่อในหน่วยงานราชการของสหรัฐรายงานว่า สมาชิกสภายุโรปของสหภาพยุโรป (EU) ลงคะเเนนรับรองญัตติประณามไทยเรื่องการส่งชาวอุยกูร์ไปยังจีน และเรียกร้องให้ไทยยุติการบังคับเนรเทศบุคคลไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต โดยมีโหวตสนับสนุน 482 เสียง ต่อ 57 เสียงที่ไม่เห็นด้วย และมีสมาชิก 68 คนที่งดออกเสียง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ตามเวลาท้องถิ่น

นักการเมืองยุโรปต้องการให้รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยเเห่งสหประชาชาติเข้าเก็บข้อมูลความเป็นอยู่ของผู้ขอลี้ภัยชาวอุยกูร์อย่างเต็มที่ และไทยต้องให้ข้อมูลอย่างโปร่งใส

นอกจากนั้น สมาชิกสภายุโรปเรียกร้องให้ไทยระงับสนธิสัญญาส่งตัวบุคคลข้ามแดนกับประเทศจีน และว่าจีนต้องเคารพกฎสิทธิพื้นฐานของชาวอุยกูร์ที่ถูกเนรเทศออกจากไทย ตลอดจนให้ความกระจ่างชัดต่อที่อยู่ของพวกเขา รวมทั้งให้อิสรภาพคนเหล่านั้น

สมาชิกรัฐสภายุโรปเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปใช้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นเครื่องมือกดดันให้ประเทศไทยปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปล่อยนักโทษการเมือง ยุติการส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับประเทศ และให้สัตยาบันอนุสัญญาหลักทั้งหมดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลไทยส่งชาวอุยกูร์ 40 คนที่คุมขังไว้ตั้งแต่ปี 2014 กลับไปจีนเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงประณามจากชาติตะวันตก รวมถึงรัฐบาลสหรัฐที่ประณามขั้นสูงสุด สหประชาชาติ และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ที่ระบุว่าเป็นการละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งคือหลักการห้ามส่งกลับบุคคลไปเผชิญอันตรายและกฎหมายของไทยเอง

ADVERTISMENT

องค์กรสิทธิมนุษยชนเผยว่า ชาวอุยกูร์ 8 คนที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกส่งตัวกลับจีน เหมือนกับ 40 คนก่อนหน้านี้เช่นกัน

สภายุโรปยังได้ส่งสัญญาณให้ไทยเสริมความเเข็งเเกร่งต่อมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน และนิรโทษกรรมนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวที่ถูกกดขี่และคุมขังภายใต้กฎหมายไทย รวมถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112

ADVERTISMENT

การโหวตครั้งนี้เพื่อผ่านญัตติที่เกี่ยวกับไทยโดยรัฐสภายุโรป ยังรวมถึงความต้องการที่จะเร่งเร้าให้ทางการยุโรปต่อรองเพื่อให้ไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาทั้งหมดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation) ด้วย