จีนระดมเงินก้อนใหญ่ กระตุ้นเศรษฐกิจภายใน

(Photo by REUTERS/Florence Lo)

การประชุมสองสภาของจีน ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2025 โดยผลการประชุมในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจีนเพิ่มน้ำหนักไปที่การกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น และกลับมาจับมือภาคเอกชนอย่างเต็มที่อีกครั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ 5% ตามเดิม ขณะที่ภัยคุกคามจากสงครามการค้า ยังคงมีความเสี่ยงจากมาตรการภาษีของสหรัฐที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง

เนื่องจากจีนประสบปัญหาอุปสงค์ภายในประเทศซบเซา จึงได้ปรับลดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อลงมาที่ระดับ 2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี เนื่องจากไม่สามารถบรรลุกรอบ 3% ที่ใช้มาเป็นเวลานานได้อีกต่อไป จากผลกระทบของวิกฤตในภาคอสังหาฯ

ล่าสุด ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ลดลง 0.7% ต่ำกว่าศูนย์ครั้งแรกในรอบ 13 เดือน จากที่เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมกราคม ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลง 0.1% เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2021 ส่งสัญญาณให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน

“ลอรา หวัง” หัวหน้านักกลยุทธ์ประจำภูมิภาคจีน ของมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการบริโภคในประเทศระดับสูงเช่นนี้ ซึ่งรัฐบาลระบุถึง “การบริโภค” มากถึง 27 ครั้งในรายงาน

ขณะที่ “ทิลลี จาง” นักวิเคราะห์จากกาเวคัล ดราโกโนมิกส์ (Gavekal Dragonomics) ตั้งข้อสังเกตว่า การบริโภคถูกยกระดับความสำคัญแทนที่เทคโนโลยี ซึ่งเคยเป็นประเด็นหลัก เห็นได้ว่ารายงานในปีนี้ รัฐบาลจีนพูดถึงคำว่า “พลังการผลิตใหม่” หรือการผลิตขั้นสูงด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าลดลงไปจากปีก่อน

รัฐบาลจีนยังคงเลือกที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้วิธีการอื่นที่ไม่ใช่การแจกเงินสด เช่น การเพิ่มงบฯโครงการอุดหนุน “สินค้าเก่าแลกซื้อสินค้าใหม่” อีกสองเท่า จาก 150,000 ล้านหยวน เป็น 300,000 ล้านหยวน โดยเป็นการอุดหนุนเงินราว 15-20% ของราคาสินค้า ไล่ตั้งแต่สมาร์ทโฟนระดับกลาง ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน โดยนำเงินจากการออกพันธบัตรพิเศษมาใช้ในการอุดหนุน

ADVERTISMENT

เจค็อบ คุก ซีอีโอดับบลิวพีไอซี มาร์เก็ตติ้ง พลัส เทคโนโลยี (WPIC Marketing+Technologies) กล่าวว่า เงินอุดหนุนครั้งใหม่นับเป็นปริมาณที่ “ค่อนข้างมาก” และน่าจะช่วยเพิ่มยอดค้าปลีกได้เป็นอย่างดี และแม้จะเป็นมาตรการระยะสั้น แต่เชื่อได้ว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติมอีกเรื่อย ๆ ในปีนี้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนได้ใช้นโยบายการคลังเชิงรุก ด้วยการกำหนดจัดทำงบประมาณของปี 2025 แบบ “ขาดดุล” ประมาณ 4% ของจีดีพี หรือขาดดุลเพิ่มขึ้น 1% จากปี 2024 ซึ่งเป็นระดับขาดดุลที่สูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้รัฐบาลจีนมีโควตาการออกพันธบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 11.86 ล้านล้านหยวน เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ADVERTISMENT

ปีนี้รัฐบาลจีนออกพันธบัตรไปแล้ว 6.5 ล้านล้านหยวน ประกอบด้วย 1) ออกพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นพิเศษ 4.4 ล้านล้านหยวน เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละมณฑล 2) ออกพันธบัตรระยะยาวพิเศษ 1.3 ล้านล้านหยวน สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 3) ออกพันธบัตรพิเศษสำหรับธนาคารขนาดใหญ่ 500,000 ล้านหยวน

หมายความว่ารัฐบาลจีนยังสามารถออกพันธบัตรได้อีก 5.4 ล้านล้านหยวน เพื่อมาเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามการค้า