
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศยุบระบบบริการสาธารณสุข NHS ชี้ช่วยประหยัดเงินหลายร้อยล้านปอนด์ ลดขั้นตอนระบบราชการ
มติชน รายงานอ้างอิงสำนักข่าวต่างประเทศ ระบุว่า เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ประกาศว่าจะนำบริการด้านสุขภาพ กลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยการยกเลิก National Health Service หรือ NHS England และให้การจัดการงบฯ ด้านสุขภาพขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข (Department of Health and Social Care (DHSC)) โดยว่า NHS ควรได้รับการดูแลโดยนักการเมืองมากกว่าองค์กรที่ไม่เกี่ยวข้อง เนื่องจากจะทำให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น
รอยเตอร์รายงานว่า นายกรัฐมนตรี เคียร์ สตาร์เมอร์ ของอังกฤษ ได้ออกมาเปิดเผยว่า เขาจะยุบหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบสาธารณสุขที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐในอังกฤษ เพื่อประหยัดเงินหลายร้อยล้านปอนด์ ช่วยลดระยะเวลารอคิว และขั้นตอนราชการ
สตาร์เมอร์ได้รับการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม โดยมีคำมั่นที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจและสร้างบริการสาธารณะใหม่ รวมถึงระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยรายงานในเดือนกันยายนระบุว่าระบบดังกล่าวอยู่ในภาวะวิกฤต
ผลกระทบจากการระบาดของโควิด ประชากรสูงอายุ และการหยุดงานประท้วงหลายครั้งทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวเข้ารับบริการหลายเดือนหรือหลายปี ส่งผลให้เศรษฐกิจย่ำแย่
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในอังกฤษมีคน 2.8 ล้านคน ขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากป่วยเรื้อรัง
สตาร์เมอร์กล่าวว่าการยกเลิก NHS England จะช่วยลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและจะทำให้มีแหล่งเงินทุนสำหรับการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลมากขึ้น
“ด้วยความสัตย์จริง ผมไม่สามารถอธิบายให้ชาวอังกฤษเข้าใจได้ว่า ทำไมพวกเขาต้องใช้เงินไปกับระบบราชการ 2 ชั้น” สตาร์เมอร์กล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองฮัลล์ ทางตอนเหนือของอังกฤษ เขากล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้มีเงินสำหรับพนักงานเพิ่มขึ้น และเวลาในการรอที่สั้นลง
สตาร์เมอร์ยังระบุว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะช่วยให้แพทย์ พยาบาล และบริการด่านหน้ามีเงินสดสำรองมากขึ้น และเร่งการพัฒนา NHS
รัฐบาลอังกฤษเป็นผู้ดำเนินการด้านบริการสุขภาพในอังกฤษผ่านกระทรวงสาธารณสุขของตน ซึ่งก็คือกรมอนามัยและสวัสดิการสังคม สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือดูแลระบบสุขภาพของตนเอง
NHS England ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 โดยรัฐบาลผสมระหว่างพรรคอนุรักษนิยมและพรรคเสรีประชาธิปไตย โดยเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ช่วยตัดสินใจเรื่องลำดับความสำคัญของการใช้จ่าย ดูแลบริการในอังกฤษ และเจรจาสัญญา
เวส สตรีตติ้ง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็น ตะปูตัวสุดท้ายที่ตอกลงบนฝาโลงของการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งยิ่งใหญ่ในปี 2012 ซึ่งส่งผลให้ต้องใช้เวลาการรอคอยนานที่สุด ผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่ำที่สุด และมีค่าใช้จ่ายด้าน NHS สูงที่สุดในประวัติศาสตร์
ทั้งนี้ เวสได้ดำเนินการตามแผนลดขนาดของ NHS England ลงครึ่งหนึ่งแล้ว และอแมนด้า พริตชาร์ด ซึ่งเป็นซีอีโอจะลาออกในสิ้นเดือนนี้
ในการพูดคุยกับ Times Radio สตรีตติ้ง กล่าวว่า การปฏิรูปนี้จะลดพนักงานรวมกันประมาณ 19,000 คน ที่ NHS England และกระทรวงสาธารณสุขลงครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ NHS มีพนักงานทั้งหมดราว 1 ล้านคน
“คนที่ทำงานใน NHS วันนี้ ไม่ได้หมายความว่างานของพวกเขาจะหายไป และพวกเขาจะไม่ได้ทำงานในองค์กรใหม่ ผมพยายามสร้างทีมใหม่ องค์กรใหม่ วัฒนธรรมใหม่ วิธีการทำงานใหม่ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนเก้าอี้” สตรีตติ้งกล่าว
อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานกังวลว่าความพยายามของสตาร์เมอร์ในการประหยัดเงินในระบบราชการผ่านการปรับโครงสร้างใหม่และเทคโนโลยีอาจส่งผลเสียต่อขวัญกำลังใจมากขึ้น