
ญี่ปุ่นปรับขึ้นค่าจ้าง 5.46% โดยเฉลี่ย มากกว่าการปรับขึ้นในปี่ก่อน สะท้อนเศรษฐกิจอยู่ในภาวะฟื้นตัว
นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่าเร็งโง (Rengo) กลุ่มสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นประกาศในวันที่ 14 มีนาคม 2025 ว่าสหภาพแรงงานสามารถต่อรองเพิ่มค่าจ้างสำเร็จที่ 5.46% โดยเฉลี่ย มากกว่าที่เพิ่มในปีก่อน ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะมีการประชุมกำหนดนโยบายการเงินสัปดาห์หน้า
แต่ละปีญี่ปุ่นจะมี ‘การเจรจาฤดูใบไม้ผลิ’ หรือที่เรียกว่า ‘ชุนโต’ ซึ่งเป็นการเจรจาไตรภาคีระหว่างสมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งประเทศญี่ปุ่น (เร็งโง-RENGO) นายจ้าง และรัฐบาล ก่อนเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ในเดือนเมษายน
โตโยต้า (Toyota) และฮิตาชิ (Hitachi) ปรับเพิ่มค่าจ้างตามความต้องการของสหภาพแรงงาน ขณะที่นิสสัน (Nissan) และชาร์ป (Sharp) ปรับเพิ่มแต่ไม่เท่าที่สหภาพแรงงานเรียกร้อง
สหภาพแรงงานเร็งโงซึ่งมีสมาชิกประมาณ 7 ล้านคน ประกาศว่าผลลัพธ์ของการประชุมรอบแรกจะมีการปรับค่าจ้างมากกว่าปีก่อน 0.18 จุดเปอร์เซ็นต์ ครอบคลุมสหภาพแรงงานย่อยอีก 760 กลุ่ม
ขณะที่กิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) มีการปรับเพิ่มค่าจ้างเฉลี่ย 5.09% มากกว่าการปรับขึ้นในปีก่อน 0.67 จุดเปอร์เซ็นต์
สหภาพแรงงานย่อยภายใต้กลุ่มเร็งโงประมาณ 3,000 กลุ่มเรียกร้องการปรับขึ้นค่าจ้างที่ 6.09% เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นปีก่อน 0.24 จุดเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเกิน 6% ครั้งแรกในรอบ 32 ปี
ผลการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นค่อย ๆ ฟื้นตัวจาก ‘ทศวรรษที่สูญหาย’ ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยาวนานกว่า 30 ปี
ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะมีการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 18 มีนาคม และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม จากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์จัดทำโดยนิกเคอิ เอเชีย
อะตารุ โอคุมูระ (Ataru Okumura) นักกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยอาวุโสจากเอสเอ็มบีซี นิกโก ซีเคียวริตี้ส์ (SMBC Nikko Securities) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างจะไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่งจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม
อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นไม่อาจชดเชยผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อยาวนานได้ (Persistent Inflation) ญี่ปุ่นมีอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือนมกราคมอยู่ที่ 3.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี (YoY) ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage) ร่วงลง 1.8%
ทั้งนี้ จากการสอบถามนักเศรษฐศาสตร์โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่น (Japan Center for Economic Research) คาดว่าการต่อรองค่าจ้างในครั้งนี้จะเพิ่มขึ้นที่ 4.92%