
แบรนด์แฟชั่น Forever 21 ในสหรัฐยื่นคำร้องขอล้มละลาย และจะดำเนินการขายแบบล้างสต๊อกเพื่อชำระหนี้ ในส่วนร้านค้าและเว็บไซต์ในสหรัฐ ยังคงเปิดให้บริการ ส่วนร้านค้าในต่างประเทศไม่ได้รับผลกระทบ
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) และรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ผู้ค้าปลีก Forever 21 แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นยื่นคำร้องขอล้มละลายตามมาตรา 11 เป็นครั้งที่สองในรอบ 6 ปี เมื่อ 16 มีนาคมที่ผ่านมา โดยได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้เข้าใช้บริการในห้างสรรพสินค้าที่ลดลงและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากผู้ค้าปลีกออนไลน์
Forever 21 ในสหรัฐ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ครั้งหนึ่งเคยดึงดูดผู้หญิงและเด็กสาวจำนวนมากให้มาช็อปปิ้งเสื้อผ้าราคาถูกตามเทรนด์ ได้ยื่นคำร้องขอล้มละลายหลังจากมีผลการดำเนินงานที่ย่ำแย่มาหลายปี
เอกสารศาลระบุว่า บริษัทได้ยื่นคำร้องขอล้มละลายภายใต้มาตรา 11 ในรัฐเดลาแวร์ โดยในคำร้องระบุทรัพย์สินมูลค่า 100-500 ล้านดอลลาร์ (3,300-16,000 ล้านบาท) และหนี้สินมูลค่า 1,000-10,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 33,000-330,000 ล้านบาท )
บริษัทระบุในข่าวประชาสัมพันธ์ว่าจะค่อย ๆ ลดการดำเนินงานในสหรัฐ ขณะเดียวกันขายทรัพย์สินบางส่วนหรือทั้งหมด
ย้อนไปก่อนหน้านี้ บลูมเบิร์กรายงานในเดือนกุมภาพันธ์ว่า Forever 21 กำลังพิจารณาทางเลือกหลายทางเพื่อพลิกฟื้นธุรกิจ ซึ่งอาจรวมถึงการยื่นคำร้องขอล้มละลายเป็นครั้งที่สอง
นับเป็นการยื่นคำร้องขอล้มละลายครั้งที่สองของแบรนด์เสื้อผ้าแบรนด์นี้ โดยครั้งแรกในปี 2019 เต็มไปด้วยการต่อสู้ ทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถฟื้นตัวได้มากนัก และส่งผลให้ต้องปิดสาขาหลายร้อยแห่งที่เคยเปิดให้บริการในช่วงรุ่งเรือง ทั้งนี้ ตามข้อมูลเว็บไซต์ของแบรนด์ระบุว่าแบรนด์นี้มีสาขามากกว่า 540 แห่งทั่วโลก
กลุ่มผู้ซื้อ ซึ่งรวมถึง Simon Property Group, Brookfield Corp. และ Authentic Brands ได้ร่วมมือกันซื้อ Forever 21 จากการล้มละลายผ่านบริษัทร่วมทุนที่มีชื่อว่า Sparc Group โดยในปีนี้ Sparc ได้ประกาศว่าจะรวมกิจการกับ JCPenney เพื่อก่อตั้ง Catalyst Brands ในช่วงเวลาของการควบรวมกิจการ ซึ่ง Catalyst กล่าวว่า กำลังสำรวจทางเลือกเชิงกลยุทธ์สำหรับการดำเนินงานของ Forever 21
บริษัท Forever 21 เป็นผู้ค้าปลีกรายล่าสุดที่ประสบปัญหาจากภาวะเงินเฟ้อที่สูง เนื่องจากผู้ซื้อลดงบฯซื้อเสื้อผ้าลง นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับผลกระทบเนื่องจากลูกค้าจำนวนมากสั่งซื้อทางออนไลน์แทนที่จะไปที่ห้างสรรพสินค้า
สาขาของ Forever 21 นอกสหรัฐอเมริกาดำเนินการโดยผู้รับใบอนุญาตรายอื่น และไม่รวมอยู่ในการยื่นคำร้องตามมาตรา 11