รวมกลยุทธ์ชาติเอเชีย ฝ่าวิกฤตกำแพงภาษี

โดนัลด์ ทรัมป์ ภาพโดย REUTERS/Nathan Howard
โดนัลด์ ทรัมป์ ภาพโดย REUTERS/Nathan Howard

โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2025 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเพิ่มอัตราภาษีสินค้าจีนนำเข้าเพิ่มอีกจนมีอัตราเพิ่ม 20% แล้วในปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้น ทรัมป์ยังเตรียมออกมาตรการภาษีแบบตอบโต้ และเก็บภาษีสินค้าประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกในวันที่ 2 เมษายนนี้

แม้จะยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง แต่เราสามารถสังเกตเห็นความพยายามในการรับมือผลกระทบทางกำแพงภาษีของแต่ละประเทศได้เรื่อย ๆ ซึ่งแต่ละประเทศในกลุ่มเอเชียเตรียมตัวอย่างไรกันบ้างนั้น “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมไว้ให้แล้ว

อินเดีย

สหรัฐเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่สุดของอินเดีย ซึ่งในปี 2024 อินเดียเกินดุลการค้ากับสหรัฐอยู่ที่ 45,663.8 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.53 ล้านล้านบาท) มากเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศทั้งหมดที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ

นเรนทรา โมดี เดินทางไปเยือนสหรัฐเพื่อเจรจากับทรัมป์ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังโดนัลด์ ทรัมป์ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งไม่นาน จนได้ข้อตกลงว่า อินเดียจะซื้อพลังงานและอาวุธนำเข้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น รวมถึงการซื้อเครื่องบินรบ F-35 ทั้งยังตั้งเป้าเพิ่มการค้ากับสหรัฐเป็นสองเท่าที่ 500,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 16.79 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030

นอกจากนี้ เนื่องด้วยอินเดียมีอัตราภาษีศุลกากรที่สูงเกินไป ซึ่งทรัมป์มองว่า ‘ไม่เป็นธรรม’ และจะปรับขึ้นภาษีแบบตอบโต้ในวันที่ 2 เมษายน ทำให้อินเดียพร้อมปรับลดอัตราภาษีในภาคส่วนที่มีความอ่อนไหวสูง เช่น ภาคยานยนต์ สิ่งทอ เครื่องหนัง เภสัชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และภาคการเกษตร

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นซึ่งเกินดุลการค้ากับสหรัฐที่ 68,467.7 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.3 ล้านล้านบาท) มากเป็นอันดับ 7 อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพบปะโดนัลด์ ทรัมป์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ชิเงรุ อิชิบะ (Shigeru Ishiba) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแสดงเจตนาที่จะเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐ และยังกล่าวถึงแผนการลงทุนในสหรัฐมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 33.58 ล้านล้านบาท) ซึ่งจะสร้างงานในสหรัฐอีกหลายตำแหน่ง

ADVERTISMENT

นายกอิชิบะเน้นย้ำว่า ญี่ปุ่นจะกลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่สุดของสหรัฐไปตลอด 5 ปีถัดจากนี้ โดยญี่ปุ่นจะเพิ่มการลงทุนในสหรัฐผ่านการตั้งโรงงานการผลิตของโตโยต้า มอเตอร์ (Toyota Motor) และอีซูซุ มอเตอร์ (Isuzu Motors) สองค่ายรถยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น นอกจากภาคยานยนต์แล้ว ญี่ปุ่นยังมุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีก เช่น พลังงาน เหล็ก และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

ไต้หวัน

ในปี 2024 ไต้หวันเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 73,927.2 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.48 ล้านล้านบาท) สูงเป็นอันดับที่ 6 โดยทีเอสเอ็มซี (TSMC) บริษัทผลิตชิปของไต้หวันประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดไมโครชิป ครองส่วนแบ่งตลาดได้กว่า 67% ในไตรมาส 4/2024

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์แสดงออกถึงความไม่พอใจ และมักกล่าวหาว่าไต้หวันขโมยอุตสาหกรรมชิปไปจากสหรัฐอยู่เสมอ พร้อมขู่รีดภาษี 100% ทำให้ไต้หวันต้องรีบตอบสนองผ่านสัญญาว่าจะลงทุนเพิ่มในสหรัฐ

แต่แล้ว เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2025 ทีเอสเอ็มซีประกาศลงทุนมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ (3.35 ล้านล้านบาท) สร้างโรงงานผลิตชิปในสหรัฐเพิ่มอีก 5 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานบรรจุภัณฑ์ขั้นสูง (Advanced Packaging) 2 แห่ง และศูนย์วิจัยและพัฒนาหลัก (R&D) อีก 1 แห่ง

ก่อนหน้านี้ ทีเอสเอ็มซีประกาศลงทุนมูลค่ากว่า 65,000 ล้านดอลลาร์ ในการจัดตั้งโรงงาน 3 แห่งในรัฐแอริโซนา โดยโรงงานแห่งแรกเริ่มต้นการผลิตแล้วเมื่อปลายปี 2024 ที่ผ่านมา ด้วยต้นทุนที่สูงกว่าการผลิตในไต้หวัน

เกาหลีใต้

เกาหลีใต้เกินดุลสหรัฐ 66,007.4 ล้านดอลลาร์ (ราว 22.17 ล้านล้านบาท) มากเป็นอันดับที่ 8 ของประเทศทั้งหมดที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ

ท่ามกลางความเสี่ยงจากมาตรการเรียกเก็บภาษีเหล็กนำเข้าเพิ่มขึ้น 25% ของสหรัฐ เกาหลีใต้พยายามเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมภายในประเทศ ผ่านการเรียกเก็บภาษีเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน เพื่อตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) โดยเกาหลีใต้อาจเรียกเก็บภาษีเหล็กแผ่นรีดร้อนกับซัพพลายเออร์จีนบางราย ซึ่งอาจโดนมากสุดสูงถึง 38.02% เป็นเวลาชั่วคราว

นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังส่งหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม และพลังงาน เข้าไปเจรจาหารือกับผู้แทนการค้าของสหรัฐ เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐยกเว้นการขึ้นกำแพงภาษีการค้ากับทางเกาหลีใต้

เวียดนาม

เวียดนามเกินดุลการค้าสหรัฐสูงเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 123,463 ล้านดอลลาร์ (ราว 41.44 ล้านล้านบาท) ซึ่งเสี่ยงถูกทรัมป์เพ่งเล็งมากกว่าใคร อย่างไรก็ตาม เพื่อรับมือกับมาตรการภาษีที่จะตามมา เวียดนามได้เตรียมตัวรองรับฐานการผลิตที่จะกระจายเข้ามาในพื้นที่ รองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มมูลค่าการผลิตภายในประเทศ

เวียดนามมอบเงินอุดหนุนสูงสุด 50% ของมูลค่าโครงการ ให้แก่โครงการลงทุนวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร

เวียดนามพิจารณานำเข้าสินค้าเกษตร เครื่องบิน อาวุธยุทโธปกรณ์ ก๊าซธรรมชาติเหลว และเภสัชภัณฑ์จากสหรัฐเพิ่มมากขึ้น และยังออกใบอนุญาตเปิดทางให้สตาร์ลิงก์ (Starlink) ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ให้บริการอินเทอร์เน็ตในเวียดนามเพื่อลดการเกินดุลกับทางสหรัฐอีกด้วย