
ธนาคารกลางญี่ปุ่นคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมแสดงความกังวลต่อความเสี่ยงด้านการค้าโลกที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลการเจรจาปรับขึ้นค่าจ้างฤดูใบไม้ผลิเพิ่มสูงสุดในรอบ 34 ปี ปูทางให้ธนาคารกลางเพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้อีก
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้น จากผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกท่ามกลางสงครามการค้าที่ยกระดับขึ้น ขณะที่ยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ดังเดิม
ธนาคารกลางญี่ปุ่นเพิ่มนโยบายทางการค้าไว้ในรายการความเสี่ยงลงบนแถลงการณ์ของวันที่ 19 มีนาคม 2025 หรือสองสัปดาห์ก่อนการประกาศมาตรการภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) จากโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐ ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% สอดคล้องกับคาดการณ์ของตลาด
ในเบื้องต้น เงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สัญญาซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นล่วงหน้าราคาร่วงลง ขณะที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น แต่ต่ำกว่าระดับสูงสุดตลอดทั้งวัน
ธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจคงดอกเบี้ย ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศส่งสัญญาณถึงโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้อีก แม้ว่าสถานการณ์อื่น ๆ ทั่วโลกจะยังคงมืดมน ทำให้ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ใช้เวลาพิจารณาอย่างมากในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
โยชิยามะ มารุยามะ (Yoshimasa Maruyama) หัวหน้าทีมวิจัยตลาดเศรษฐกิจ ที่ เอสเอ็มบีซี นิกโก้ ซีเคียวริตี้ส์ (SMBC Nikko Securities) กล่าวว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น อย่างเร็วสุดคงไม่เกินหนึ่งครั้งในรอบหกเดือน นอกจากนี้ธนาคารกลางยังแสดงมุมมองถึงความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมจากการประชุมครั้งก่อน ทั้งนี้ ธนาคารกลางยังไม่ได้กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งใหญ่ของกลุ่มสหภาพแรงงาน ซึ่งสอดคล้องกับหนทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
เป็นที่คาดการณ์กันว่า เฟด หรือธนาคารกลางสหรัฐ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยสองครั้งในปีนี้ เริ่มในเดือนกันยายน ทำให้การประชุมนโยบายในเดือนมีนาคมนี้ เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ต่อไปเช่นกัน
ทาโร่ คิมูระ (Taro Kimura) นักเศรษฐศาสตรของบลูมเบิร์ก กล่าวว่า เศรษฐกิจดูแข็งแรงเพียงพอต่ออการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม ซึ่งน่าจะปรับขึ้นในเดือนพฤษภาคม หลังจากเจรจาปรับขึ้นค่าจ้าง (ชุนโต) เพิ่มขึ้นอย่างมาก สนับสนุนเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่กรอบ 2%
เร็งโง กลุ่มสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นประกาศผลการเจรจาปรับขึ้นค่าแรงที่มากสุดในรอบ 34 ปี เป็นสัญญาณบวกต่อการใช้จ่ายผู้บริโภค ซึ่งในระหว่างเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อโดยรวมของญี่ปุ่นเร่งขึ้นเป็น 4% ในเดือนมกราคม สูงสุดท่ามกลางบรรดากลุ่มประเทศ G7
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางญี่ปุ่นบ่งชี้ถึงความเสี่ยงด้านนโยบายการค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งอาจต้องรอดูท่าที่ของธนาคารกลางอีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไป
ฮารุมิ ทากุจิ (Harumi Taguchi) หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ที่ เอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ (S&P Global Market Intelligence) กล่าวว่า นโยบายของสหรัฐมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ซึ่งอาจทำให้ภาคธุรกิจระงับการลงทุนและแผนการผลิตได้ระหว่างนี้ ขณะที่สถานการณ์ในประเทศ การเจรจาปรับค่าแรงของญี่ปุ่นออกมาในระดับที่สูง จึงคาดได้ว่าธนาคารกลางจะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก