กางแผนลับ ‘ทรัมป์’ ผ่าน ‘Mar-a-Lago Accord’

Unfolding Trump's secret plan
President Donald Trump speaks at a reception celebrating Women's History Month in the East Room of the White House, Wednesday, March 26, 2025, in Washington. (AP Photo/Jacquelyn Martin)

นับตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยสอง “โดนัลด์ ทรัมป์” ยังคงท่าทีขึงขัง ประกาศใช้นโยบายกีดกันทางการค้าอย่างแข็งกร้าวเช่นเคย ที่ต่างไปในคราวนี้ คือทรัมป์เข้มงวดกับคู่ค้าทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศพันธมิตร

ช่วงสองเดือนนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าทุกชนิดกับทั้งจีน แคนาดา และเม็กซิโก ก่อนจะลามไปขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากทุกประเทศ แม้แต่กับพันธมิตร สหภาพยุโรป ไม่เพียงเท่านั้น ทรัมป์ยังขู่จะขึ้นภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับทุกประเทศในวันที่ 2 เมษายนนี้อีกด้วย

เป้าหมายหลักของทรัมป์คือการดึงฐานการผลิตกลับเข้ามาในสหรัฐ เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพราะทรัมป์เชื่อว่าจะเกิดการจ้างงานให้กับชาวอเมริกัน และท้ายสุดแล้วอเมริกาก็จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แผนการดังกล่าวอาจไม่เป็นดั่งใจ เมื่อประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีอาจหลบเลี่ยง ด้วยวิธีการตอบโต้ที่ไม่ใช่ภาษี นั่นคือลดค่าเงินของตัวเองลงเพื่อชดเชยผลกระทบจากภาษี และเพื่อให้ผู้ส่งออกได้เงินมากขึ้น

ดังนั้น มาตรการขึ้นภาษีจึงไม่ใช่ทางออกเดียวของสหรัฐอีกต่อไป และกลยุทธ์ที่สหรัฐอาจปรับใช้เพื่อเพิ่มความสามารถในการส่งออก คือปรับเสถียรภาพของเงินดอลลาร์ใหม่ ผ่านข้อตกลงที่เรียกว่า ‘Mar-a-Lago Accord’

Mar-a-Lago Accord คืออะไร

‘Mar-a-Lago Accord’ เป็นสมมติฐานแนวนโยบายของทรัมป์ ซึ่งมีแนวคิดนี้มาจาก “สตีเฟน มิแรน” นักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลทรัมป์ โดยมีเป้าหมายหลักคือการลดการขาดดุลการค้ามหาศาลของสหรัฐ โดยต้องการให้ค่าเงินดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันในการค้าโลก ขณะเดียวกัน ก็ต้องการรักษาสถานะสกุลเงินหลักของโลกของดอลลาร์ไว้

ADVERTISMENT

โดยมิแรนนำไอเดียของ “โรเบิร์ต ทริฟฟิน” นักเศรษฐศาสตร์เบลเยียมในยุคทศวรรษ 1960 มาปรับใช้ ซึ่งชี้ว่าสุดท้ายแล้วสหรัฐจะต้องขาดดุลการค้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ต้องการเงินดอลลาร์สำหรับใช้เป็นสกุลเงินสำรองมากขึ้นเรื่อย ๆ และนั่นจะส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่า

แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สหรัฐขาดดุลการค้าอย่างหนัก โดยตลอดทั้งปี 2024 สหรัฐขาดดุลสูงแตะระดับ 1.335 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปี 2023 โดยสถานการณ์เช่นนี้ หากทรัมป์ต้องการลดขาดดุล และฟื้นภาคการผลิตในประเทศ ทรัมป์จำเป็นต้องกดค่าเงินดอลลาร์ให้อ่อนลง แต่สิ่งที่ทรัมป์ต้องแลกคือภาวะเงินเฟ้อที่จะตามมาด้วย ซึ่งทรัมป์ไม่อยากแลก

ADVERTISMENT

มิแรนจึงเสนอแนวทางให้ทรัมป์ใช้กำแพงภาษีกดดันให้ประเทศคู่ค้าเจรจาปรับอัตราแลกเปลี่ยนกับสหรัฐเสียใหม่ให้สกุลเงินตัวเองยอมแข็งค่า ผ่านข้อตกลงที่ “สกอต เบสเซนต์” รัฐมนตรีคลังสหรัฐเรียกว่า ‘Mar-a-Lago Accord’ ตามชื่อบ้านพักส่วนตัวของทรัมป์ในปาล์มบีช รัฐฟลอริดา

Mar-a-Lago Accord เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐอย่างไร

ปัจจุบันดอลลาร์สหรัฐถือว่าแข็งค่าเกินไป เมื่อวัดด้วยแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity) จึงไม่น่าแปลกใจ หากสหรัฐจะต้องการยืมมือคนอื่นกดค่าเงินของตัวเองให้อ่อนค่าลง เพราะถ้าสำเร็จสหรัฐจะลดขาดดุลการค้า เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตในประเทศ และรักษาสถานะผู้นำของเงินดอลลาร์ไปได้ในเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ จากแนวนโยบาย Mar-a-Lago Accord สหรัฐอาจมีการเรียกร้องให้พันธมิตรที่พึ่งพาความคุ้มครองด้านความมั่นคงจากสหรัฐ เปลี่ยนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีอยู่ไปเป็นพันธบัตรที่ไม่มีดอกเบี้ยระยะ 100 ปี (Zero Coupon 100 Years Bonds) ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้สาธารณะที่สูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 120% ของจีดีพีลงได้ เพราะต้องรอ 100 ปี กว่าจะถึงเวลาครบกำหนดชำระหนี้

โดยที่ทรัมป์อาจใช้วิธีตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) อีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการดำเนินข้อตกลง Mar-a-Lago Accord อีกด้วย

Mar-a-Lago Accord มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

เมื่อพิจารณาดี ๆ แล้ว Mar-a-Lago Accord อาจเกิดขึ้นจริงได้ยาก เนื่องด้วยอุปสรรคหลายประการ ตั้งแต่วิธีการที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในปัจจุบัน ทั้งยังดูล้าสมัย เนื่องจากวิธีการแทรกแซงค่าเงินนั้น ขัดแย้งกับแนวคิดตลาดเสรีโดยสิ้นเชิง

เหตุผลประการต่อมาคือ การแทรกแซงจะได้ผลดีที่สุดเมื่อมีพันธมิตรที่เชื่อถือได้ ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มประเทศสมาชิก G5 ร่วมใจกันทำข้อตกลง Plaza Accord ในปี 1985 ทว่าในปัจจุบันฝรั่งเศสปฏิเสธความร่วมมือดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ การเจรจากับจีนประเทศคู่ค้าที่เกินดุลกับสหรัฐมากสุดก็ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่าย

นอกจากนี้ หากมาตรการภาษีก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงอย่างยิ่ง เมื่อนั้นแล้วทรัมป์จะรับมือกับกระแสตอบโต้ของมวลชนซึ่งไม่พอใจได้หรือไม่

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมผลกระทบของมาตรการภาษีที่จะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า ซึ่งขัดแย้งกับเป้าหมายกดค่าเงิน ซึ่งบรรณาธิการของ Wall Street Journal ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “คงจะดีกว่านี้ ถ้าประธานาธิบดีเลิกโฟกัสว่าค่าเงินดอลลาร์จะแข็งหรืออ่อน แล้วให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของค่าเงินแทน นั่นคืองานที่ประชาชนชาวอเมริกันเบื่อหน่ายกับภาวะเงินเฟ้อเลือกประธานาธิบดีมาทำ

ทั้งนี้ Mar-a-Lago Accord ยังเป็นแค่สมมติฐาน และยังต้องติดตามท่าทีอันไม่แน่นอนของทรัมป์กันต่อไป