
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ของสหรัฐออกมาพูดถึง “แผนเพื่อความเป็นธรรมและสมดุล” (Fair and Reciprocal Plan) ที่ว่ากันว่าถูกออกแบบมาเพื่อลดการเสียเปรียบดุลการค้าของสหรัฐอเมริกา ตามแผนปฏิบัติการที่ว่านี้ สหรัฐอเมริกาจะประเมิน “ความสัมพันธ์ทางการค้า” กับนานาประเทศใหม่
แล้วจะประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศนั้น ๆ ให้สมดุล หรือสมน้ำสมเนื้อกับอุปสรรคทางการค้าทั้งหมดที่ประเทศนั้น ๆ มีอยู่ในความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา โดยทั้งหมดที่ว่านี้จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 เมษายนนี้
ประเด็นสำคัญก็คือ รัฐบาลอเมริกันไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใด ไม่ว่าจะในแง่ที่ว่าการเสียเปรียบทางการค้าที่สหรัฐมีอยู่ต่อประเทศหนึ่ง ๆ นั้น จะคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างไร ด้วยสูตรหรือวิธีไหน หรือในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ระบุด้วยซ้ำไป ว่าแผนนี้จะถูกนำไปดำเนินการกับประเทศใดบ้าง สร้างความสับสนและปั่นป่วนให้เกิดขึ้นจากความ “ไม่รู้” ข้อเท็จจริงของแผนปฏิบัติการที่ว่านี้ขึ้นทั่วไปในระบบการค้าโลก
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอเมริกันภายใต้การนำของทรัมป์ ก็แสดงออกมาให้เห็นเป็นนัยว่า การดำเนินการตามแผนนี้จะเป็นการสะท้อนถึงเหตุปัจจัยทั้งหมดของแต่ละประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐอเมริกา นำมารวมกันสำหรับใช้เป็นฐานในการกำหนดการตอบโต้ ตั้งแต่ปัจจัยในเรื่องภาษีอากรสำหรับสินค้าขาเข้าของประเทศนั้น ๆ, ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประเทศนั้น ๆ เรียกเก็บ, มาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้านอกเหนือจากภาษี และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนทางการเงินของแต่ละประเทศ
ในขณะที่ สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังของทรัมป์ก็แย้ม ๆ ว่าที่สหรัฐอเมริกาเน้นเป็นพิเศษก็คือคู่ค้าที่ได้เปรียบทางการค้าต่อสหรัฐอเมริกาอยู่มหาศาลในเวลานี้ ซึ่งคิดแล้วมีสัดส่วนสูงถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของคู่ค้าที่สหรัฐอเมริกามีอยู่ทั้งหมด
ถึงจะมีความ “ไม่รู้” อยู่อีกมากมาย แต่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกกลับเชื่อว่าทรัมป์เอาจริงตามแผนการที่ว่านี้แน่ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมาเป็นระยะ ตั้งแต่ 12 มีนาคม ที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าในหมวดเหล็กและอะลูมิเนียมจากต่างประเทศทั้งหมดเป็น 25% พอถึง 26 มีนาคมก็ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ทั้งหมดที่นำเข้ามาขายในสหรัฐอเมริกาเป็น 25% แถมเมื่อ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ทรัมป์แถลงต่อผู้สื่อข่าวเองว่า พอถึง 2 เมษาฯ สินค้าทุกหมวดจะถูกรวมเข้าไว้ในมาตรการทางภาษีศุลกากรแบบสมน้ำสมเนื้อนี้
นักวิชาการบางคนพยายามขจัดความ “ไม่รู้” ที่ว่านี้ โดยทดลองนำเอาประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐอเมริกามากที่สุด 15 ประเทศ (รวมทั้มาเลเซีย เวียดนาม และไทย) มาคำนวณดู ว่าแต่ละประเทศจะถูกขึ้นภาษีขาเข้าเป็นจำนวนเท่าใด โดยแรกสุดใช้วิธีคำนวณง่าย ๆ จากการที่ประเทศนั้น ๆ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาในปี 2024 เพียงอย่างเดียว
ผลปรากฏว่าในกรณีนี้สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องขึ้นอัตราภาษีสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากอินเดีย ระหว่าง 3.3% จนถึงสูงสุด 17% เช่นเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ต้องขึ้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจากไทยอีกราว 6 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
ในกรณีของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งรัฐบาลอเมริกันของทรัมป์เชื่อว่าเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดุลการค้า ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนี้แต่อย่างใด (แต่มีการเรียกเก็บภาษีจากการขายโดยรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละรัฐ) ทั้งนี้ ยังไม่มีใครรู้เช่นกันว่าสหรัฐอเมริกาจะนำภาษีมูลค่าเพิ่มนี้รวมเข้าไปในมาตรการของตัวเองอย่างไร หรือจะใช้วิธีง่าย ๆ เช่น กรณีของอิตาลีซึ่งเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงมากที่ 22% ก็ใช้การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากอิตาลีอีก 22% หรือเปล่า กรณีเช่นนี้ไทยก็อาจถูกเรียกเก็บภาษีขาเข้าจากสหรัฐอเมริกาอีก 7% นั่นเอง
สิ่งที่ชวนปวดหัวมากที่สุด ก็คือการที่สหรัฐอเมริกานำเอามาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Nontariff Measures) เข้ามารวมอยู่ในการประเมินการโต้ตอบประเทศคู่ค้าอยู่ด้วย เนื่องจากมาตรการเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับการตีความและการบังคับใช้ ดังนั้น แม้ว่าจะมีอยู่ก็ใช่ว่าประเทศนั้น ๆ จะบังคับใช้กับสินค้าจากสหรัฐอเมริกาทุกครั้งเสมอไป
มาตรการเหล่านี้มี อาทิ มาตรการด้านสุขอนามัย, ข้อกำหนดเชิงเทคนิค, มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด และอื่น ๆ อาทิ การกำหนดโควตา, การกำหนดราคาควบคุม เป็นต้น จนบัดนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าสหรัฐอเมริกาจะใช้วิธีใดมาคำนวณมาตรการเหล่านี้ออกมาในเชิงปริมาณ สำหรับนำไปใช้อ้างอิงในการโต้ตอบทางการค้ากับประเทศคู่กรณี
นอกจากนั้นแล้ว รัฐบาลทรัมป์ยังแสดงให้เห็นว่าต้องการให้แน่ใจด้วย ว่าประเทศคู่ค้าของตนจะไม่ใช้เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนทางการเงินเพื่อการได้เปรียบทางการค้า เช่น การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อทำให้สินค้าออกของตนมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าปกติทั่วไป
นักวิชาการและนักวิเคราะห์โดยทั่วไปเชื่อว่า รัฐบาลทรัมป์จะนำเอาการวิเคราะห์ของกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกามาใช้เป็นเครื่องอ้างอิงในกรณีนี้ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังอเมริกันได้จัดทำรายงานเรื่องนี้อยู่แล้วเผยแพร่ออกมาปีละ 2 ครั้ง เพื่อดูว่าประเทศคู่ค้าใดบ้างที่ใช้วิธีการนี้ โดยระบุชื่อประเทศไว้ในรายชื่อประเทศที่ต้องถูก “จับตามอง” เพื่อการประเมินอย่างเข้มข้นจากนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน
ข้อวิเคราะห์ต่อไปว่า ประเทศนั้น ๆ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อเอาเปรียบทางการค้าต่อสหรัฐอเมริกา หรือใช้เกณฑ์ในการวิเคราะห์อยู่หลายประการประกอบกัน คือประเทศนั้น ๆ ได้เปรียบดุลการค้าเหนือสหรัฐอเมริกาอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ (เกินกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์หรือไม่), มีดุลบัญชีเดินสะพัดเท่าใด (อย่างน้อย 3% ของจีดีพี), และ/หรือเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนถี่เพียงใด (อย่างน้อย 8 เดือนต่อปี ที่มูลค่าอย่างน้อยเท่ากับ 2% ของจีดีพี)
รายงานล่าสุดของปี 2024 ไทยไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่ว่านี้ แต่ประเทศอย่าง จีน เยอรมนี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม อยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังนี้ แต่มีเพียงเยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม เท่านั้นที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดและได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐอเมริกาตามข้อกำหนด ส่วนจีนถูกบวกเพิ่มเข้าไปเพราะได้เปรียบดุลการค้าสูงมาก และไม่มีความโปร่งใสในข้อมูลการแทรกแซงตลาดเงิน คำถามก็คือรัฐบาลทรัมป์จะโต้ตอบประเทศเหล่านี้อย่างไร ขึ้นภาษีแต่ละประเทศอีก 5-10-15 หรือ 20% หรือไม่ ไม่มีใครรู้
กล่าวจนถึงที่สุดแล้ว ทุกคนไม่สามารถวิเคราะห์หรือคาดเดาได้ว่ารัฐบาลทรัมป์จะใช้ข้อมูลเหล่านี้มาประเมินและกำหนดมาตรการทางภาษีเป็นการตอบโต้ได้อย่างไร และมากน้อยแค่ไหน คงได้แต่รอจนถึงวันประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 เมษายนนี้ หรืออาจเนิ่นนานกว่านั้น ถึงจะได้รู้ความจริงกันว่าสหรัฐอเมริกาคำนวณอัตราภาษีศุลกากรที่จะเรียกเก็บเพิ่มจากนานาชาติอย่างไร และมาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและแต่ละประเทศอย่างไรกันบ้างนั่นเอง