พม่าเสียชีวิตเกิน 2,700 ราย อาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่อง UN เรียกร้องเร่งยกระดับช่วยเหลือ

ผู้คนเข้าคิวเพื่อรับสิ่งของบรรเทาทุกข์หลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวในเมืองสะกาย ประเทศเมียนมา วันที่ 31 มีนาคม (รอยเตอร์ผ่านทางผู้สื่อข่าวชั่วคราว หรือสตริงเงอร์)

ยอดผู้เสียชีวิตเมียนมาเพิ่มเป็น 2,719  ราย  คาดเกิน 3,000 ราย เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้นานาชาติเร่งให้ความช่วยเหลือเมียนมาเพิ่มขึ้น

รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ (UN) ซึ่งสำรวจความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในเมียนมาได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกเร่งยกระดับความช่วยเหลือเมียนมาก่อนฤดูมรสุมจะมาถึง ซึ่งจะทำให้วิกฤตเลวร้ายอยู่แล้วยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตรวมอยู่ที่ 2,719 ราย คาดว่าจะเกิน 3,000 ราย เนื่องจากมีโอกาสน้อยที่ผู้สูญหายราว 400 คนยังมีชีวิตอยู่

ผลจากการลงพื้นที่ประสบภัย 2 วัน มาร์โกลุยจิ คอร์ซี รักษาการผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมของยูเอ็นระบุว่า สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือน้ำดื่ม สุขอนามัย อาหาร ที่พักชั่วคราว ยารักษาโรค หลังจากความเสียหายร้ายแรงต่ออาคาร ถนน สะพาน

สเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกสหประชาชาติกล่าวว่า เรายังคงมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือผู้คนในเมียนมาที่ต้องการความช่วยเหลือ และเราต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้ความช่วยเหลือก่อนที่ฤดูมรสุมจะมาถึง ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้วิกฤตเลวร้ายนี้เลวร้ายลงไปอีก

สงครามกลางเมืองในเมียนมาทำให้มากกว่า 3 ล้านคนต้องพลัดถิ่นก่อนเกิดแผ่นดินไหว จูลี บิชอป ทูตพิเศษของสหประชาชาติในภารกิจเมียนมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิงทันที อนุญาตให้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ปลอดภัย

กลุ่มให้ความช่วยเหลือในเมียนมาเตือนว่าโอกาสในการค้นหาผู้รอดชีวิตกำลังจะหมดลงอย่างรวดเร็ว

ADVERTISMENT

มิน ออง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมา กล่าวว่ายอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวขนาด 7.7 เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 2,719 ราย ณ วันที่ 1 เมษายน และคาดว่าจะสูงกว่า 3,000 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 4,521 ราย และสูญหาย 441 ราย ซึ่งคาดว่าผู้สูญหายส่วนใหญ่เสียชีวิตแล้ว มีโอกาสเพียงเล็กน้อยที่พวกเขาจะยังมีชีวิตอยู่

หน่วยงานของสหประชาชาติระบุว่า ผู้บาดเจ็บล้นโรงพยาบาลต่างๆ และความพยายามกู้ภัยมีอุปสรรคจากความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานและสงครามกลางเมือง กลุ่มต่อต้านกล่าวหาว่ากองทัพยังคงโจมตีทางอากาศแม้หลังจากเกิดแผ่นดินไหว และเมื่อวาน (1 เมษายน) กลุ่มพันธมิตรภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านหลัก ได้ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวเพื่อช่วยเหลือในการบรรเทาทุกข์

ADVERTISMENT

ภาคมัณฑะเลย์ได้รับผลกระทบจากอาฟเตอร์ช็อกอีก 5 ครั้ง จูเลีย รีส จากองค์การยูนิเซฟ องค์กรเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่าเธอเห็นชุมชนทั้งหมดในเมียนมาถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง มีทั้งการทำลายล้างครั้งใหญ่และบาดแผลทางจิตใจ และระบุอีกว่าวิกฤตยังไม่คลี่คลาย แรงสั่นสะเทือนยังเกิดต่อไป ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยยังคงดำเนินต่อไป ศพยังคงถูกดึงออกมาจากเศษซากหักพัง ยกตัวอย่าง ในพื้นที่มัณฑะเลย์ เด็ก 50 คนและครูสองคนเสียชีวิต เมื่อโรงเรียนเตรียมอนุบาลถล่มลงมา

ภาพมุมสูงแสดงอาคารพังราบในภาคมัณฑะเลย์จากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มีนาคม (ภาพจากหน่วยงานดับเพลิงเมียนมาผ่านทางรอยเตอร์)
อาคารต่างๆ อยู่ในสภาพพังทลายหลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ในเมืองอมรปุระ ภาคมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2025 (รอยเตอร์ผ่านทางผู้สื่อข่าวชั่วคราว หรือสตริงเงอร์)

สำหรับผู้รอดชีวิตที่หาได้ยาก หญิงวัย 63 ปีที่ติดอยู่ในอาคารนานกว่า 91 ชั่วโมง ได้รับการช่วยเหลือออกมาจากซากปรักหักพังของอาคารแห่งหนึ่งในกรุงเนปยีดอว์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา จากความร่วมมือของหน่วยดับเพลิงเมียนมาและทีมกู้ภัยจากอินเดีย จีน และรัสเซีย

แม้ว่ายอดผู้เสียชีวิตยังไม่ชัดเจน แต่ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าอาจสูงเกินปกติ เนื่องจากมีประชากรหนาแน่นและโครงสร้างอาคารบ้านเรือนสิ่งก่อสร้างที่เปราะบางอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ซึ่งอยู่นอกเขตเมืองมัณฑะเลย์ไปไม่ไกล และเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของเมียนมาที่มีประชากรราว 1.59 ล้านคน โดยแบบจำลองของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ (USGS) ประมาณการว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจสูงเกิน 10,000 ราย และมีความเป็นไปได้สูงที่ยอดผู้เสียชีวิตจะสูงกว่านี้มาก