
ผู้แทนการค้าสหรัฐเผยสูตรคำนวณภาษีต่างตอบโต้ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเรียกเก็บจากประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐทั้งหมด
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อคืนวันพุธที่ 3 เมษายน เวลาท้องถิ่น เพื่ออธิบายวิธีการจัดเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐที่โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐประกาศจัดเก็บภาษีต่างตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ทั่วโลกในอัตราพื้นฐาน 10 เปอร์เซ็นต์ จะมีผลวันที่ 5 เมษายน และเก็บในอัตราที่สูงขึ้นกับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุดที่มีราว 60 ประเทศ ซึ่งจะมีผลวันที่ 9 เมษายนนั้น
สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ Office of the United States Trade Representative (USTR) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสูตรคำนวณภาษีต่างตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่นำส่วนเกินดุลการค้าของประเทศหนึ่งกับสหรัฐหารด้วยมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐของประเทศนั้น ๆ ทั้งหมด โดยสถิติการค้าอ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐ ซึ่งมีหน้าที่เก็บข้อมูลการค้าด้วย ประจำปี 2024 จากนั้นจึงนำตัวเลขดังกล่าวหารด้วย 2 เพื่อให้ได้อัตรา “ส่วนลด”
ตัวอย่างเช่น จีนเกินดุลการค้ากับสหรัฐ 295,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 10 ล้านล้านบาท) จากมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐทั้งหมดเมื่อปี 2024 มีมูลค่า 438,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 15 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วน 68% และเมื่อหารด้วย 2 ตามสูตรของทรัมป์ จะได้อัตราภาษีศุลกากร 34% ซึ่งการคำนวณแบบเดียวกันนี้ให้ผลลัพธ์คร่าว ๆ เหมือนกับอัตราภาษีศุลกากรสำหรับเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป (อียู)
สำหรับไทยโดนเรียกเก็บ 37% มาจากการเอาค่าขาดดุลการค้าของสหรัฐต่อไทยมูลค่า 45,600 ล้านดอลลาร์ (1.5 ล้านล้านบาท) มูลค่าที่สหรัฐนำเข้าจากไทยทั้งหมด 63,300 ล้านดอลล่าร์ (ราว 2.1 ล้านล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนได้เป็น 72.7 % แล้วคูณด้วย 0.5 หรือ หารด้วย 2 เพราะสหรัฐลดให้ครึ่งหนึ่งก็ได้อัตราภาษีเป็น 37 %
นอกจากนี้ บลูมเบิร์กรายงานว่า ประเทศที่สหรัฐเกินดุลการค้าก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยต้องเผชิญกับอัตราภาษีคงที่ 10% โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น เช่นเดียวกับประเทศที่มีดุลการค้าเกือบจะเท่า ๆ กัน
ด้านสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยระบุว่า “วันนี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ประกาศว่า การดำเนินธุรกิจการค้าและแนวทางปฏิบัติด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นสาเหตุของสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ และคำสั่งของประธานาธิบดีกำหนดภาษีตอบโต้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถานะทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของสหรัฐ และปกป้องแรงงานอเมริกัน”