
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ
ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้นำสหรัฐ เปิดแถลงข่าวใหญ่โตเมื่อบ่ายวันที่ 2 เมษายน (2025) ที่ทำเนียบขาว ภายใต้หัวข้อที่ฟังดูเร้าใจว่า Liberation Day หรือ “วันปลดปล่อยให้เป็นอิสระ” ความหมายของทรัมป์ ก็คือที่ผ่านมา อเมริกาถูกประเทศอื่น ๆ เอาเปรียบเรื่องการเก็บภาษีศุลกากร ซึ่งเขาอ้างว่าเป็นสาเหตุให้อเมริกาขาดดุลการค้ามหาศาล ดังนั้นอเมริกาภายใต้รัฐบาลของเขาจะไม่ใจดีอีกต่อไป จะเก็บภาษีแบบต่างตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศที่สหรัฐถูกเก็บภาษีสูงและขาดดุล
การแถลงครั้งนี้ ทรัมป์มาพร้อมกับแผ่นชาร์ตขนาดใหญ่ ซึ่งมีรายชื่อประเทศมากกว่า 180 ประเทศ ที่สหรัฐจะจัดเก็บภาษีเพิ่ม พร้อมกับตารางเปรียบเทียบว่าประเทศเหล่านั้นเก็บภาษีจากสหรัฐเท่าไหร่ และสหรัฐจะเก็บเท่าไหร่เพื่อตอบโต้
อย่างเช่น จีน จะถูกเก็บเพิ่มอีก 34% เมื่อรวมกับที่สหรัฐเก็บจากจีนไปแล้ว 20% ก็จะรวมเป็น 54% ลาว 48% เวียดนาม 46% ไทย 36% กัมพูชา 49% บังกลาเทศ 37% ไต้หวัน 32% อินโดนีเซีย 32% ศรีลังกา 44% อินเดีย 26% เกาหลีใต้ 25% ญี่ปุ่น 24% มาเลเซีย 24% สหภาพยุโรป 20%
เฉพาะแคนาดาและเม็กซิโกที่ถูกเก็บภาษี 25% ไปก่อนหน้านี้ จะยังถูกเก็บเหมือนเดิม จนกว่าทรัมป์จะพอใจการแก้ปัญหาสารเสพติดเฟนทานีล และผู้อพยพผิดกฎหมาย
ทรัมป์ระบุว่า อัตราภาษีที่แสดงออกมาเป็นการเก็บเพียงครึ่งเดียว เมื่อเทียบกับที่สหรัฐถูกเก็บ ซึ่งเป็นอัตราที่คำนวณรวมปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษีโดยตรง หรือกำแพงอื่นที่ทรัมป์อ้างว่าประเทศเหล่านั้นใช้เพื่อเอาเปรียบสหรัฐ ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่เขาจะเก็บเพิ่มมากกว่านี้ในอนาคต พร้อมกันนี้ เขายังประกาศเก็บภาษีขั้นต่ำ 10% กับประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจาก 180 ประเทศดังกล่าวด้วย โดยกลุ่มที่ถูกเก็บขั้นต่ำ 10% มีผลบังคับใช้วันที่ 5 เมษายน กลุ่มที่สูงกว่านี้มีผล 9 เมษายน นับเป็นการเก็บภาษีศุลกากรสูงที่สุดโดยสหรัฐนับจากปี 1930 หรือเกือบ 1 ศตวรรษ
สำหรับสินค้าที่ได้รับการยกเว้นในครั้งนี้ ประกอบด้วย ยา ทองแดง เซมิคอนดักเตอร์ ไม้ท่อน ทองแท่ง พลังงานและแร่บางอย่างที่ไม่มีในสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะเก็บในอนาคต ผู้นำสหรัฐป่าวประกาศว่า ผลจากการเก็บภาษีครั้งนี้จะเร่งให้บรรดาผู้ผลิต ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในอเมริกา สร้างงานให้กับคนอเมริกัน สร้างยุคทองรุ่งเรืองให้กับอเมริกา
อัตราภาษีที่เรียกเก็บสูงลิ่วดังกล่าว สร้างความช็อกให้กับตลาดและทั่วโลก เพราะเดิมตลาดคาดว่าทรัมป์จะเก็บภาษีน้อยกว่าที่ขู่เอาไว้ ไม่น่าจะเก็บเกิน 10-20% ที่สำคัญนอกจากจะเก็บทุกประเทศขั้นต่ำ 10% แล้ว ยังเก็บสูงมากกับบางประเทศที่สหรัฐหมายหัวด้วย อีกทั้งทรัมป์ส่งสัญญาณว่ามีโอกาสจะเก็บเพิ่ม ทำให้มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงอย่างรุนแรง
ตามการจัดลำดับของซีเอ็นบีซี ประเทศที่ถูกเก็บภาษีแบบ Reciprocal สูงที่สุด (ไม่รวมจีน) ได้แก่ ลาว 48% มาดากัสการ์ 47% เวียดนาม 46% ศรีลังกาและเมียนมา เท่ากันคือ 44% บังกลาเทศ-เซอร์เบีย-บอตสวานา เท่ากันคือ 37% ไทย 36% ไต้หวัน 32% แอฟริกาใต้ 30% ปากีสถาน 29% อินเดีย 26% เกาหลีใต้ 25% ญี่ปุ่นและมาเลเซีย 24% เป็นต้น
ด้านนักธุรกิจและผู้ประกอบการในสหรัฐชี้ว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะที่ผ่านมาหลังจากทรัมป์ประกาศเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมไปก่อนหน้านี้ ทำให้ต้นทุนสินค้าพวกกระป๋องเครื่องดื่มสูงขึ้นอยู่แล้ว การขึ้นภาษีในครั้งนี้จะกระทบบริษัทเป็นวงกว้าง รวมถึงร้านจำหน่ายสินค้าบริโภคที่จำหน่ายสินค้านำเข้าหลายอย่าง
โจชัว โบลตัน อดีตหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทีมงานของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และประธานบริหารของ Business Roundtable ซึ่งเป็นกลุ่มซีอีโอชั้นนำที่ทรงพลังของสหรัฐมากกว่า 200 บริษัท เตือนว่าการเก็บภาษีรอบนี้ จะส่งผลสะท้อนด้านลบกลับมาที่เศรษฐกิจสหรัฐ “การเก็บภาษีศุลกากรกับทุกประเทศตั้งแต่ 10-50% เสี่ยงจะเป็นอันตรายต่อผู้ผลิตอเมริกัน คนงาน ผู้ส่งออก ไปจนถึงครอบครัวคนอเมริกันทั่วไป”
“เมื่อเศรษฐกิจอเมริกาแย่ ก็จะทำให้มีการคงภาษีไว้ในระดับสูงนานขึ้น และยิ่งจะเลวร้ายลงเมื่อถูกประเทศอื่นตอบโต้ ดังนั้น ทั้งสหรัฐและคู่ค้าต้องเจรจาบรรลุข้อตกลงโดยเร็ว เพื่อยกเลิกภาษีเหล่านี้”
แอนโทนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย พันธมิตรสหรัฐ ออกมาประณามทรัมป์ว่า เป็นการขึ้นภาษีอย่างไม่ชอบธรรมที่เก็บภาษีออสเตรเลีย 10% นี่ไม่ใช่การกระทำแบบเพื่อน
“ผมไม่คาดคิดเลยว่าเราจะถูกเก็บ ไม่ชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง ประธานาธิบดีทรัมป์อ้างถึง Reciprocal Tariffs ถ้าจะอ้างแบบนั้น ภาษีที่เก็บจากเราต้องเป็น 0% ไม่ใช่ 10% การกระทำวันนี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดความไม่แน่นอน และมันอาจทำให้เราเปลี่ยนความรับรู้ของเราเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับสหรัฐ”
โอลู โซโนลา หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจของฟิตช์ เรทติ้ง ชี้ว่าการขึ้นภาษีศุลกากรอย่างก้าวร้าวครั้งนี้ จะยกระดับภาษีศุลกากรที่สหรัฐเรียกเก็บจากประเทศอื่นจากประมาณ 2.5% ในปี 2024 เป็น 22% สูงกว่าปี 1930 ภายใต้กฎหมาย Smoot-Hawley Tariff ที่เก็บประมาณ 20% ซึ่งในครั้งนั้นทำให้เกิดสงครามการค้าทั่วโลก และซ้ำเติมภาวะ “มหาวิกฤตเศรษฐกิจ” หรือ The Great Depression ให้แย่ลงอีก
“นี่เป็นตัวเปลี่ยนเกม ไม่เพียงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ทั่วโลก หากอัตราภาษียังสูงในระดับนี้เป็นเวลานาน เศรษฐกิจทั่วโลกจะถดถอย”
นักการเมืองจากซีกเดโมแครตระบุว่า รีพับลิกันกำลังบดขยี้เศรษฐกิจอเมริกาอย่างทันทีทันใด และกำลังจะทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย “นี่ไม่ใช่วันปลดปล่อยให้เป็นอิสระ แต่เป็นวันแห่งการถดถอย”
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า กรณีของเวียดนามที่ถูกเก็บภาษีสูงมาก 46% คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทอเมริกันขนาดใหญ่ที่ใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น โดยบริษัทที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนัก ก็อย่างเช่น ไนกี้, อเมริกัน อีเกิล และเวย์แฟร์
ที่ผ่านมาเวียดนามเป็นทางเลือกยอดนิยมของบริษัทเหล่านี้ เพื่อหนีสงครามการค้าสหรัฐ-จีน แต่เมื่อทรัมป์เก็บภาษีเวียดนามก็ทำให้พวกเขาไม่มีทางหนี ซึ่งอาจทำให้รายได้บริษัทลดลงเพราะผู้บริโภคจะซื้อน้อยลงเมื่อราคาขยับขึ้น