
คอลัมน์ : นอกรอบ
หลังจากที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้นำสหรัฐ ประกาศเก็บภาษีขั้นต่ำ 10% กับประเทศที่ส่งออกทั้งหมด และเก็บเพิ่มในอัตราที่สูงขึ้นกับราว 60 ประเทศ ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุด เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา (ตามเวลาประเทศไทย)
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผอ.วิจัย Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงผลกระทบจากการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐ กับประเทศคู่ค้าหลายประเทศ
โดยไทยถูกเพิ่มอัตราภาษีที่ 36% ว่า ผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งโลก เพราะทุกประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐ จะถูกคิดภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น 10% ในวันที่ 5 เมษายนนี้ ส่วนประเทศไทยเป็น 1 ใน 60 กว่าประเทศที่ถูกเพิ่มภาษีในอัตราสูงกว่านั้น
โดยในเอกสารทางการของสหรัฐ ระบุไว้ที่ 37% ซึ่งอัตราดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 9 เมษายนนี้ อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศในอาเซียนที่ถูกเก็บภาษีในอัตรามากกว่าไทย เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ส่วนจีนที่ถูกภาษีเพิ่มอีก 34% จากเดิมที่อัตราได้ปรับขึ้น 20% อยู่แล้ว ทำให้จีนถูกเก็บภาษีนำเข้าที่ 54%
ยกตัวอย่างสินค้าส่งออกของไทยที่จะได้รับผลกระทบหลัก ๆ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐ สูงอยู่ใน 20 อันดับแรก ซึ่งคิดเป็น 64% ของการส่งออกไปสหรัฐ อย่างเช่น หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ
รวมทั้งส่วนประกอบและชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ไทยมีเม็กซิโกเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐ ซึ่งการขึ้นภาษีครั้งนี้ จะทำให้ไทยต้องจ่ายภาษีนำเข้าที่ 38.5% (รวมกับอัตราเดิมจ่าย 1.5%) ในขณะที่เม็กซิโก จ่ายภาษี 25% เท่านั้น นอกจากนี้การขึ้นภาษีดังกล่าว ยังทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอ รวมทั้งคู่ค้าอื่นของไทยด้วย ดังนั้นคาดว่าปีนี้ส่งออกของไทยจะโตอยู่ที่ 1-2% ขณะที่ปีที่ผ่านมาโตที่ 5.4%
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาคือการประเมินคู่แข่งของไทยที่ผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐ ว่าถูกขึ้นภาษีมากกว่าหรือน้อยกว่าไทย เพราะนั่นหมายถึงโอกาสในการแข่งขันบนสนามที่มีกติกาใหม่ ซึ่งไทยอาจสามารถส่งสินค้าไปทดแทนสินค้าของประเทศอื่น ๆ ที่ถูกตั้งกำแพงภาษีสูงกว่าไทยได้ เพราะปีแรกของการขึ้นภาษี สหรัฐคงไม่สามารถผลิตสินค้าในประเทศมาทดแทนสินค้าได้ทัน ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ต้องนำเข้าอยู่ดี
“เราก็อาจจะมีโอกาสเพิ่มการส่งออกไปสหรัฐ ในสินค้าที่คู่แข่งของไทยถูกขึ้นภาษีมากกว่าเรา เช่น จีน 54% เวียดนาม 46% แต่ไทย 36% ดังนั้นเราอาจสามารถแข่งขันในเรื่องราคาได้ เช่น ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ นี่คือโอกาสของไทยในครั้งนี้ ซึ่งเราเห็นได้จากสมัยทรัมป์ 1 ที่หลังจากที่จีนถูกตั้งกำแพงภาษี สหรัฐก็หันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ไทย เวียดนาม และไต้หวัน แทนสินค้าจากจีนในตอนนั้น” ดร.กิริฎาระบุ
นอกจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการส่งออกของไทยแล้ว สินค้านำเข้าน่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากทุกประเทศต้องหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะสินค้าจากจีน และสินค้าประเภทเหล็ก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสหรัฐต้องการให้นานาประเทศ รวมทั้งไทยเจรจาเพิ่มเติมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับสหรัฐมากขึ้นกว่าเดิม แลกกับการขอปรับลดอัตราภาษีนำเข้า เพราะในเอกสารของสหรัฐระบุว่า ทุกอย่างปรับเปลี่ยนได้หากมีการเจรจา
โดยประเมินว่ามี 3 แนวทางที่ทางสหรัฐต้องการจากไทย คือ 1.อาจขอให้ไทยลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐ โดยสินค้าที่ไทยเรียกเก็บสหรัฐสูงกว่าที่สหรัฐเรียกเก็บจากไทยมาก เช่น ไวน์ เบียร์ เนื้อวัว รถยนต์ รวมถึงสินค้าเกษตรหลายชนิด ซึ่งสินค้าเกษตรมีความสำคัญกับประธานาธิบดีทรัมป์ เนื่องจากเกษตรกรเป็นฐานเสียงหลัก
2.อาจขอให้ไทยเพิ่มโควตานำเข้าสินค้าบางประเภทมากขึ้น เช่น ข้าวโพด และกาแฟ ที่ไทยมีการกำหนดโควตานำเข้า
3.อาจขอให้ไทยลดข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานสุขภาพ เช่น ให้ไทยอนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ ซึ่งไทยกังวลว่ามีสารเร่งเนื้อแดงเกินมาตรฐาน ดังนั้นไทยควรพิจารณาเจรจาเพื่อเปิดตลาดสินค้าที่มีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยน้อย หรือจะส่งผลดีกับผู้บริโภคในไทยในลำดับแรก นอกจากนี้ สหรัฐอยากให้ประเทศต่าง ๆ มีการไปลงทุนในสหรัฐมากขึ้นด้วย
ดร.กิริฎากล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นกังวล คือท่าทีของธุรกิจต่างชาติที่ต้องการมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีภาคธุรกิจจากต่างประเทศจำนวนมากที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และได้รับบัตรส่งเสริมไปแล้วในสองปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้เข้ามาลงทุน เมื่อมีความไม่แน่นอนนี้เกิดขึ้นและไทยถูกขึ้นภาษี 36% บางธุรกิจอาจจะชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์หลังการเจรจาระหว่างประเทศต่าง ๆ กับสหรัฐ
ขณะที่ภาพรวมทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคด้วยว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทิศทางของเงินเฟ้อและดอกเบี้ยน่าจะเป็นขาลง ธนาคารกลางสหรัฐอาจมีการลดดอกเบี้ยอีก 1-3 ครั้งในปีนี้ เช่นเดียวกับทิศทางดอกเบี้ยของไทยน่าจะลงเช่นเดียวกัน คาดว่า กนง.จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% อีก 1-2 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ค่าเงินบาทไทยจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากปีที่แล้ว
รวมถึงเงินที่จะไหลเข้าประเทศเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียงเล็กน้อย ทั้งจากการค้า และภาคท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งค่าเกือบจะมากที่สุดในอาเซียน เป็นรองเพียงมาเลเซียเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ประเทศที่ค่าเงินถูกกว่าไทยได้เปรียบไทยในการส่งออก
“ต้องยอมรับว่าสงครามการค้าระดับโลกครั้งนี้จะส่งผลกระทบทางลบกับเศรษฐกิจโลก และไทย แต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสสำหรับธุรกิจไทย ภาครัฐ และเอกชนไทยจึงต้องร่วมกันลดผลกระทบและบริหารความเสี่ยง รวมถึงใช้โอกาสที่มาในครั้งนี้”