การค้าที่ไม่เป็นธรรมในมุมทรัมป์ “เพื่อนร้ายกว่าศัตรู” และวาทะไทยเก็บภาษี 60 %

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐถือเอกสาร "อุปสรรคการค้าของต่างประเทศ" ขณะประกาศเก็บภาษีที่สวนกุหลาบในทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เมื่อ 2 เมษายน 2025 (ภาพ รอยเตอร์)

ภาษีแบบต่างตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ถูกงัดมาใช้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขการค้าที่ไม่สมดุลและไม่เป็นธรรม ไม่ปรานีศัตรู ไม่ละเว้นมิตร

ณ งานแถลงข่าวครั้งใหญ่ในสวนกุหลาบทำเนียบขาว เมื่อ 2 เมษายน เวลาท้องถิ่น โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวว่า “ในแง่การค้ามีหลายกรณีอย่างมากที่เพื่อนเลวร้ายกว่าศัตรู” พร้อมย้ำถึงความไม่สมดุลการค้าที่เลวร้ายทำให้ฐานอุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐเสียหาย และความมั่นคงแห่งชาติตกอยู่ในความเสี่ยง

เกี่ยวกับภาษียานยนต์ 25% ซึ่งมีผลแล้วเมื่อเที่ยงคืนวันที่ 3 เมษายน ทรัมป์ยกตัวอย่างการโจมตีที่รุนแรงที่แรงงานสหรัฐเผชิญมาหลายปี และได้พูดถึงไทย ระบุว่าสหรัฐเก็บภาษีมอเตอร์ไซค์ประเทศอื่น 2.4% แต่ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ เก็บสูงกว่าสหรัฐอย่างมาก ไทยเก็บ 60% อินเดียเก็บ 70% เวียดนามเก็บ 75% และแม้กระทั่งชาติอื่น ๆ ยังเก็บสูงกว่า

จากข้อเท็จจริง ไทยเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ สถานทูตสหรัฐที่ถนนวิทยุมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย แต่ก็ยังโดนภาษีแบบต่างตอบโต้ที่สูงกว่าถึง 36% ซึ่งเป็นอัตราที่สหรัฐลดให้แล้วครึ่งหนึ่งจากที่สหรัฐคำนวณว่าไทยเก็บภาษีสินค้าสหรัฐ 72% และจะมีผลในวันพุธที่ 9 เมษายนนี้ หรือห่างกันราวหนึ่งสัปดาห์หลังจากวันประกาศเรตภาษีเมื่อ 2 เมษายน ซึ่งรัฐบาลสหรัฐได้เปิดให้มีการเจรจาต่อรองตามภาคผนวกในคำสั่งฝ่ายบริหาร

ในปี 2024 มูลค่าขาดดุลการค้าของสหรัฐต่อไทยอยู่ที่ 45,600 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม กระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในแง่ความสัมพันธ์ทางการทูต ไทยได้ส่งชาวอุยกูร์กลับจีน ส่งผลให้มาร์โก รูบิโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐประณามไทยขั้นสูงสุด (คลิกดูแถลงการณ์ กรณีไทยผลักดันชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน) และส่งสารในลักษณะที่เน้นไปทางตัดพ้อในความสัมพันธ์ที่แม้แต่มิตรภาพยาวนานของสองประเทศก็ไม่อาจยับยั้งการกระทำของไทยได้ และเป็นการกระทำของไทยที่สหรัฐประหลาดใจ ซึ่งนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระบุว่า นี่คือการหักหน้าสหรัฐ นอกจากการประณามแล้ว ยังตามมาด้วยมาตรการจำกัดด้านวีซ่าต่อเจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้อง

ADVERTISMENT

ทรัมป์ยังบอกอีกว่า สหรัฐเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ผลิตจากต่างประเทศ 2.5% ขณะที่พันธมิตรอย่างสหภาพยุโรป (อียู) เก็บสหรัฐกว่า 10% และยังมีภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 20% ขณะที่อินเดียเก็บ 70% และภาษีที่ไม่ใช่ตัวเงินจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่เลวร้ายยิ่งกว่า

รถยนต์ 81% ในเกาหลีใต้ผลิตในเกาหลีใต้ และ 94% ของรถยนต์ในญี่ปุ่นผลิตในญี่ปุ่น รถยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศของโตโยต้าส่งเข้ามาขายในสหรัฐจำนวน 1 ล้านคัน และเจนเนอร์รัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) บริษัทรถยนต์สัญชาติสหรัฐเกือบจะขายไม่ได้เลย ด้วยกำแพงภาษีที่มากขนาดนี้จึงไม่มีบริษัทรถยนต์สหรัฐได้รับอนุญาตให้เข้าไปตลาดประเทศอื่น

ADVERTISMENT

ทรัมป์ได้เชิญนายไบรอัน เพนน์เบกเกอร์ อดีตแรงงานในภาคยานยนต์ซึ่งขณะนี้เกษียณแล้ว เคยทำงานให้ฟอร์ดและไครสเลอร์ ผู้ที่ทรัมป์ยกย่องว่ามีความรู้ความเข้าใจที่ดีกว่านักเศรษฐศาสตร์หลายคน ขึ้นกล่าวในระหว่างการประกาศเก็บภาษียานยนต์ ซึ่งนายไบรอันแนะนำตัวเองว่าเกิดในเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน และตลอดชีวิตที่ผ่านมาได้เห็นหลายโรงงานต้องปิดตัวลงโรงงานแล้วโรงงานเล่า รวมถึงหลายโรงงานที่ไม่ดำเนินการทั่วดีทรอยต์รวมถึงในเขตเมือง

เขาและสมาชิกสหภาพแรงงานภาคยานยนต์ (The United Auto Workers) อีก 20 คน ซึ่งมาในงานแถลงประกาศขึ้นภาษี เห็นด้วยกับนโยบายภาษีของทรัมป์ 100% มั่นใจว่านโยบายทรัมป์จะทำให้โรงงานเหล่านี้กลับมาผลิตสินค้าได้อีกครั้ง

ภาพรวมในการแถลงข่าวใหญ่ครั้งนี้ ทรัมป์ชูรายงานเล่มหนาเล่มหนึ่งขึ้นกลางอากาศ เป็นรายงานว่าด้วยกำแพงการค้าของต่างประเทศที่กระทำต่อสหรัฐประจำปี 2025 หรือ The 2025 National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barriers (NTE) ซึ่งทรัมป์ได้สั่งคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสืบสวนการค้าที่ไม่สมดุลและไม่เป็นธรรมตั้งแต่วันแรก ๆ ของการเข้ารับตำแหน่ง และการกำหนดภาษีแบบต่างตอบโต้ต่อชาติอื่น ๆ มาจากผลการศึกษาเหล่านี้

ทรัมป์กล่าวกับพลเมืองอเมริกาโดยเฉพาะ บอกว่ารายงานเล่มนี้ทำให้ได้รู้ถึงสิ่งที่ประเทศอื่นทำกับสหรัฐมาตลอด 30 ปี ซึ่งทำให้เขาไม่พอใจ ทรัมป์ไม่ได้โทษประเทศอื่น แต่กล่าวโทษประธานาธิบดีคนก่อน ๆ ที่ยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้น “ประธานาธิบดีสหรัฐในอดีตไม่ได้ทำหน้าที่ประธานาธิบดี” ทรัมป์กล่าว และปล่อยให้ความเสียหายมาถึงระดับที่เหลือเชื่อ

ในความคิดเห็นของทรัมป์ ซึ่งประกาศวันที่ 2 เมษายนเป็นวันปลดแอกทางเศรษฐกิจ (Declaration of Economic Independence) ถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐ

หลายสิบปีที่ผ่านมา สหรัฐตัด/ลดกำแพงภาษีต่อประเทศอื่นอย่างมาก แต่ประเทศอื่นกลับขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐและสร้างกำแพงการค้าที่มิใช่ภาษีที่รุนแรงเหลือจะทานทนได้ เพื่อทำลายหลายอุตสาหกรรมสหรัฐให้พังยับเยิน

และในหลายกรณีคือการตั้งกำแพงหรืออุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ตัวเงินของประเทศอื่น ๆ ต่อสหรัฐเลวร้ายกว่าภาษีที่เป็นตัวเงินเสียอีก ความหมายคือสหรัฐถูกเอาเปรียบทางการค้า ได้รับความไม่เป็นธรรม ทั้งมาในรูปของการปั่นค่าเงิน ให้เงินอุดหนุนการส่งออก ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการภาษีมูลค่าเพิ่มที่แพงเกินไป เพื่อทำให้สินค้าของสหรัฐเสียเปรียบ ไปจนถึงการที่คู่ค้ารับรองกฎและเทคนิคมาตรฐานที่ไม่เป็นธรรม

ทรัมป์ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารบังคับใช้ภาษีแบบต่างตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศต่าง ๆ กว่า 180 ประเทศและดินแดน ทรัมป์อธิบายให้เข้าใจง่ายว่า ภาษีแบบต่างตอบโต้ก็คือ พวกเขาเก็บเราเท่านี้ เราก็เก็บเขาเท่ากับที่เขาเก็บเรา ไม่มีอะไรที่เข้าใจได้ง่ายกว่านี้อีกแล้ว

ประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวย้อนไปว่า ในสมัยรัฐบาลชุดแรกของตน ได้หารือกับผู้นำหลายประเทศ รวมถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย และชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งต่างแสดงความเข้าใจถึงการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่สหรัฐเผชิญ

ทรัมป์จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ อันเกิดจากเงื่อนไขที่สะท้อนให้เห็นจากการขาดดุลการค้าของสหรัฐในแต่ละปีที่มากและยาวนานต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 40 % ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และแตะระดับ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 41.4 ล้านล้านบาท) ในปี 2024