
กลุ่มชาติอินโดจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดนภาษีแบบต่างตอบโต้ของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐหนักที่สุด นักวิเคราะห์ชี้ไปที่ปัจจัยสำคัญ ประการแรก การรับรู้กันว่าประเทศเหล่านี้มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับจีนมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งยังเกินดุลการค้าสหรัฐอย่างมาก
ผู้เชี่ยวชาญระบุกับแชนเนล นิวส์เอเชีย (CNA) ว่า ระดับภาษีที่แตกต่างกันของสหรัฐในหมู่ชาติอาเซียนอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติโยกย้ายการลงทุนจากชาติอินโดจีน รวมถึงเวียดนาม ลาว กัมพูชาไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า เช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
กัมพูชาและลาวโดนภาษีหนักที่สุดในอาเซียน ในอัตรา 49% และ 48% ตามลำดับ ตามด้วยเวียดนาม 46% และเมียนมา 44% ขณะที่ไทย พันธมิตรด้านความมั่นคงทางทหารของสหรัฐโดน 36% และชาติสมาชิกอาเซียนที่โดนภาษีในอัตราน้อยกว่า ได้แก่ อินโดนีเซีย 32% มาเลเซียและบรูไน 24% ตลอดจนฟิลิปปินส์ 17% สิงคโปร์ 10%
วู วิง ธี นักเศรษฐศาสตร์ชาวมาเลเซีย-อเมริกันกล่าวว่า สหรัฐมองจีนเป็นภัยคุกคามหมายเลขหนึ่งในสงครามการค้าโลก จึงต้องการจะสร้างความเจ็บปวดให้กับประเทศเหล่านี้ ประเทศเหล่านี้บางประเทศ โดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชาตกเป็นเป้าหมายเนื่องจากเกินดุลกับสหรัฐอย่างมาก และเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากกลยุทธ์จีนบวกหนึ่ง (China Plus One) ของรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่หลายประเทศใช้กระจายห่วงโซ่อุปทานเพื่อเลี่ยงภาษีสหรัฐที่เก็บกับจีน โดยการย้ายการปฏิบัติงานไปยังหลายประเทศในอาเซียน โดยการสวมสิทธิ ปลอมแปลงต้นกำเนิดสินค้า
ตัวอย่างเช่น การเกินดุลการค้าของเวียดนามกับสหรัฐพุ่งสูงถึง 123,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.2 ล้านล้านบาท) ในปี 2024 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยอยู่อันดับรองจากจีน สหภาพยุโรป (EU) และเม็กซิโกเท่านั้น
สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากบริษัทที่เคยตั้งอยู่ในจีนย้ายไปยังเวียดนามก่อนส่งออกไปยังสหรัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีของสหรัฐที่เรียกเก็บจากจีนก่อนหน้านี้
โจแอน หลิน (Joanne Lin) ซึ่งเป็นนักวิจัยอาวุโสและผู้ประสานงานของศูนย์ศึกษาอาเซียนในสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ประเทศสิงคโปร์ระบุว่า อาจเห็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกลุ่มชาติอินโดจีนลดลง โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่เน้นการส่งออก การบูรณาการกับห่วงโซ่อุปทานที่มีศูนย์กลางอยู่ที่จีนอาจได้รับผลกระทบเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนเส้นทางการลงทุนไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น สิงคโปร์และมาเลเซียจะมีน้อยมาก เนื่องจากประเทศเหล่านี้ไม่ได้แข่งขันกันเพื่อดึงดูด FDI ประเภทเดียวกันกับเวียดนาม หรือกัมพูชา
“อาจมีการจัดสรรการลงทุนใหม่บางส่วนไปยังฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียในเซ็กเตอร์ที่ใช้แรงงานเข้มข้นกว่า อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่แตกต่างกันถือว่ายังต่างกันไม่มากพอที่จะผลักดันให้เกิดการเคลื่อนย้ายของทุนครั้งใหญ่” วูกล่าวเสริม และว่าอาจมีการหยุดชะงักของการเคลื่อนย้ายทุนในกลุ่มอินโดจีน
อาเซียนรับมืออย่างไร
เวียดนาม : โต เลิม เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ได้โทรศัพท์หารือกับทรัมป์ โดยเสนอลดภาษีให้สินค้าสหรัฐเหลือ 0% ซึ่งทรัมป์ระบุว่า การหารือเกิดผลอย่างมาก เวียดนามต้องการลดภาษีให้สหรัฐเหลือ 0% หากบรรลุดีลระหว่างกัน
กัมพูชา : ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้เสนอลดภาษีสินค้าสหรัฐเหลือ 5% ในสินค้าหลายรายการ รวมถึงจักรยานยนต์ ข้าวโพด วิสกี้ เนื้อวัว
สิงคโปร์ : ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ แถลงต่อประชาชนผ่านทางยูทูบให้เตรียมรับมือเหตุการณ์อันเนื่องมาจากภาษีของสหรัฐในโลกที่ไร้เสถียรภาพและไม่อาจคาดเดาได้ สิงคโปร์เป็นรัฐเล็ก ๆ ที่พึ่งพาการค้าไม่อาจหวังการคุ้มครองจากระบบการค้าโลก WTO อีกต่อไป เนื่องจากสหรัฐปฏิเสธระบบนี้อย่างสิ้นเชิง สะท้อนการค้าเสรีได้สิ้นสุดลงแล้ว
อินโดนีเซีย : รัฐบาลอินโดนีเซีย ออกแถลงการณ์จะส่งผู้แทนระดับสูงไปเจรจาโดยตรง หลังจากได้เตรียมกลยุทธ์และขั้นตอนต่าง ๆ ในการคาดการณ์แผนภาษีของทรัมป์ตั้งแต่ต้นปีนี้ เพื่อลดผลกระทบจากกำแพงภาษีต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซีย
ไทย : แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ระบุว่า ฝ่ายไทยจะส่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปเจรจา และบอกอีกว่าได้ติดตาม วางแผนรับมือภาษีทรัมป์นับตั้งแต่ทราบว่าทรัมป์ชนะการเลือกตั้งแล้ว
อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ได้หารือทางโทรศัพท์กับผู้นำประเทศในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และสิงคโปร์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและประสานการตอบโต้ร่วมกันเกี่ยวกับภาษีแบบต่างตอบโต้ของสหรัฐ ซึ่งมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนต้องการให้เกิดการเห็นพ้องร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกในการสร้างหลักการที่ยุติธรรมและเท่าเทียมในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างคู่เจรจาอาเซียน-สหรัฐ ซึ่งจะได้พิจารณาในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในสัปดาห์นี้ต่อไป และมองหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศสมาชิกด้วย
ประเทศสมาชิกอาเซียนเดี่ยว ๆ อาจไม่มีอำนาจต่อรองเพียงพอที่จะตอบโต้ภาษีศุลกากรของสหรัฐ แต่ในฐานะอาเซียนโดยรวม ตัวเลขคือที่มาของอำนาจต่อรอง อาเซียนที่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน 10 ประเทศสามารถหันไปหาพันธมิตรการค้าทางเลือกทั่วโลก เพื่อต่อต้านมาตรการคุ้มครองทางการค้าของสหรัฐได้
วู นักเศรษฐศาสตร์กล่าวอีกว่า อาเซียนควรพิจารณาสร้างความร่วมมือทางการค้ากับกลุ่มอื่น ๆ นอกเหนือจากสหรัฐ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป (EU) และแม้แต่ประเทศในอ่าวเปอร์เซีย
เขายกตัวอย่างประเทศต่าง ๆ เช่น มาเลเซีย ซึ่งจัดหาชิปเซมิคอนดักเตอร์ให้กับสหรัฐ ควรพิจารณาจัดหาชิปเหล่านี้ให้กับยุโรปและจีนด้วยเช่นกัน และเสริมว่าในฐานะกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน อาเซียนควรแสวงหาข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการขยายตลาด
หลิน นักวิจัยอาวุโสกล่าวว่า อาเซียนสามารถใช้โอกาสนี้เสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันผ่านการออกแถลงการณ์ หรือประสานงานร่วมกัน เพื่อทำให้การค้าและการลงทุนภายในรัฐสมาชิกแข็งแกร่ง
ในระหว่างนี้เธอยอมรับว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวนมากอาจไม่เต็มใจที่จะเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในสหรัฐอย่างมากเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวต้องใช้เงินทุนจำนวนมากและต้องใช้เวลาในการสร้างขึ้นมา จึงมีบางประเทศเลือกที่จะรอให้วาระ 4 ปีของทรัมป์สิ้นสุดลง มากกว่าที่จะเริ่มการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่