
จีนอุ้มการส่งออก ปรับระดับอ้างอิงค่าเงินหยวนอ่อนค่าสุดในรอบ 18 เดือน ส่งสัญญาณถึงโอกาสการเจรจาทางการค้ากับทางสหรัฐที่ริบหรี่
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ในวันที่ 8 เมษายน 2025 ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดอัตราอ้างอิงเฉลี่ยค่าเงินหยวนเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ (Daily Midpoint) ลงมาอยู่ที่ 7.2038 หยวนต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่อ่อนค่าสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2023 เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก หลังถูกสหรัฐขึ้นภาษี
นับเป็นครั้งแรกที่ธนาคารกลางประชาชนจีนอ่อนค่าเงินจนมาอยู่ระดับ 7.20 หลังโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2024 ซึ่งเป็นระดับที่นักลงทุนมองว่าธนาคารกลางกำลังข้ามเส้นที่ต้องการรักษาไว้
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลง แม้ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นจีนจะดีดตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งค่าเงินหยวน Onshore ซึ่งเป็นเงินหยวนที่ใช้กันในประเทศจีนอ่อนค่ามากสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2023 ขณะที่เงินหยวน Offshore อ่อนค่าลงมากสุดในรอบสองเดือน
การอ่อนค่าเงินหยวนเป็นทางเลือกที่รัฐบาลจีนใช้เพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออก ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของภาคเศรษฐกิจจีนที่กำลังเผชิญความตึงเครียดทางการค้าอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจอ่อนค่าเงินหยวนอาจทำให้เกิดผลกระทบขาลงทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น เงินทุนไหลออกเพิ่มมากขึ้น หรือสร้างความขุ่นเคืองให้แก่สหรัฐ จนหมดความหวังที่จะมีการเจรจาทางการค้าใด ๆ เกิดขึ้น
ในทางกลับกัน หากจีนฝืนแข็งค่าเงินหยวนต่อไป ภาคการส่งออกก็จะได้รับความเสียหาย และจะทำลายเศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้ แรงกดดันจากการฝืนค่าเงินก็จะยิ่งทับถมให้ตลาดการเงินผันผวนกว่าเดิมในท้ายที่สุด
เบ็กกี้ หลิว (Becky Liu) หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์มหภาคจีน จากสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด แบงก์ (Standard Chartered Bank) กล่าวว่า จีนกำลังอนุญาตให้การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อบรรเทาแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางการขึ้นภาษีที่รุนแรง
เมื่อวันที่ 7 เมษายน โดนัลด์ ทรัมป์ขู่ว่าจะขึ้นภาษีเพิ่มเติมอีก 50% หากจีนไม่ถอนแผนการขึ้นภาษีแบบตอบโต้ที่จะมีผลในวันที่ 8 เมษายน ขณะที่ หวัง เหวินเทา (Wang Wentao) รัฐมนตรีพาณิชย์ยืนยันหนักแน่นว่า จีนจะสู้จนถึงที่สุด ส่งสัญญาณถึงโอกาสการเจรจาทางการค้าที่ริบหรี่