
รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยึดแนวทางเจรจาเกี่ยวกับภาษีของสหรัฐและจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้
รอยเตอร์ (Reuters) รายงานผลการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดพิเศษวันนี้ (10 เม.ย.) ระบุว่า ประเทศสมาชิกกำลังกดดันให้มีการเจรจากับสหรัฐในเรื่องภาษีการค้า และจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้ทางภาษี
ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ จะประกาศระงับการเรียกเก็บภาษีที่มีอัตราสูงเป็นเวลา 90 วัน ยกเว้นจีน ชาติสมาชิกอาเซียน 6 จาก 9 ประเทศ ที่ถูกรัฐบาลสหรัฐเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงเกินคาดอย่างมาก โดยอยู่ระหว่าง 32% ถึง 49% เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐในอัตรา 46% ในขณะที่กัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าราคาถูกรายใหญ่ให้กับแบรนด์ตะวันตก ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 49% ขณะที่ไทยถูกเรียกเก็บภาษี 36%
และเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ระดับอัตราภาษีของสหภาพยุโรป (อียู) อยู่ที่ 20% ญี่ปุ่นอยู่ที่ 24% และอินเดียอยู่ที่ 27%
“เราแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะร่วมเจรจาอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์กับสหรัฐ เพื่อแก้ไขข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับการค้า การสื่อสาร และความร่วมมืออย่างเปิดเผยจะเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่สมดุลและยั่งยืน” รัฐมนตรีเศรษฐกิจของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ระบุในแถลงการณ์ ซึ่งแสดงความกังวลเกี่ยวกับภาษีและผลกระทบ
รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังเน้นย้ำการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่คาดเดาได้ ยุติธรรม และเป็นไปตามกฎระเบียบ
การประชุมพิเศษครั้งนี้มีนายเต็งกู ซาฟรุล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย เป็นประธาน
ทั้งนี้ อาเซียนซึ่งมีสมาชิก 10 ประเทศ รวมกันเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก โดยสมาชิกพึ่งพาการส่งออกเป็นอย่างมาก เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต