ศึกชิงผู้นำ “ฟินเทคจีน” “วีแชตเพย์” ท้าดวล “อาลีเพย์”

เป็นเวลากว่าทศวรรษที่อาลีบาบาอาณาจักรของ “แจ็ก หม่า” บุกเบิกเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ในนาม บริษัท “แอนท์ ไฟแนนเชียล” ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สำคัญอย่างแอปพลิเคชั่นเพย์เมนต์อย่าง “อาลีเพย์” เป็นหัวหอก ที่ทำให้ทุกคนจ่ายค่ารถค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าตั๋วหนัง ผ่านมือถือได้โดยสะดวก

ปัจจุบัน “ฟินเทค” ได้ก้าวเข้ามาเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน จากที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจำนวนมหาศาลที่สถาบันการเงินใหญ่ ๆ เข้าไม่ถึง ทำให้ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ในเมืองใหญ่ แต่เมืองเล็ก ๆ ผู้คนต่างใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่นทางมือถือทั้งสิ้น เพราะสะดวกและง่าย เพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ด แล้วกดจ่ายเงิน รวมไปถึงการนำเสนอบริการทางเงินออนไลน์อื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา “อาลีเพย์” ได้มีคู่แข่งคนสำคัญอย่าง “วีแชตเพย์” แอปพลิเคชั่นโมบายเพย์เมนต์ในสังกัด “เทนเซ็นต์” ยักษ์ไอทีของจีนที่พัฒนาต่อมาจากฐานลูกค้าของแอปสนทนาวีแชต ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่าพันล้านคน

วีแชตเพย์เติบโตอย่างรวดเร็ว จากปีแรก ๆ มีส่วนแบ่งตลาดไม่ถึง 10% ปัจจุบันไล่ตีตื้นอาลีเพย์มาติด ๆ

ผลสำรวจในปี 2017 ส่วนแบ่งการตลาดโมบายเพย์เมนต์ในจีนเป็นของอาลีเพย์ 53.7% วีแชตเพย์ 39.1% และอื่น ๆ 7.2% ด้วยมูลค่าการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มสูงถึง 15.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากในปี 2015 ที่มีมูลค่าเพียง 2 ล้านล้านดอลลาร์

เมื่อสมรภูมิแข่งขันดุเดือด ก็มีการเล่นเกมขัดขาผ่านพันธมิตรออฟไลน์ เช่น ห้างวอลมาร์ตบางสาขาในตอนใต้ปฏิเสธไม่รับจ่ายเงินด้วยอาลีเพย์ เนื่องจากเป็นพาร์ตเนอร์กับวีแชตเพย์ปีก่อน 2 ค่ายยักษ์โหมโปรโมชั่นอย่างหนักจน “แอนท์ ไฟแนนเชียล” เกิดภาวะ “ขาดทุน” ในไตรมาสที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเรื่องสุดเซอร์ไพรส์ที่เกิดขึ้น

“วีแชตเพย์” เคลมว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอปอยู่ราว 600 ล้านคน และโชคดีที่วีแชตเป็นแอปพลิเคชั่นที่คนจีนใช้ทั้งวันทำให้การต่อยอดธุรกิจเกิดขึ้นง่ายกว่า ซึ่งจากผลสำรวจจาก Kleiner Perkins Caufield & Byers และ eMarketer ระบุว่า ประชากรชาวจีนใช้วีแชตเฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมงต่อคน

“เคธี ซู” ผู้ก่อตั้ง แคปิตอล ทูเดย์ กรุ๊ป กองทุนด้านเทคโนโลยีในจีน ให้ความเห็นว่า วีแชตแย่งชิงตลาดจากอาลีเพย์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะ “ความขี้เกียจ” ของผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่ใช้วีแชตอยู่แล้ว หากจะใช้อาลีเพย์ก็ต้องเปิดแอปขึ้นใหม่ ดังนั้นในการจ่ายเงินมูลค่าเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงสะดวกทำในวีแชตเพย์ซึ่งอยู่ในแอปวีแชตอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ศึกจ่ายเงินวีแชตเพย์อาจจะไล่บี้อาลีเพย์ได้สำเร็จในไม่ช้าแต่สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ อาลีเพย์ถือว่าตอบโจทย์และครอบคลุมมากกว่า ทั้งบริการลงทุนออนไลน์ “Yu”e Bao” ประกันภัย “ZhongAn” บริการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “Sesame Credit” บริการสินเชื่อ “Ant Micro Loan” และธนาคารออนไลน์ “MYbank”

ขณะที่วีแชตยังมีแค่ธนาคารออนไลน์ “วีแบงก์” ที่เปิดเมื่อราว 2 ปีก่อน และ “LingQianTong” ซึ่งตั้งตัวเป็นคู่แข่งของ “Yu”e Bao”นอกจากนี้ ล่าสุด “แอนท์ไฟแนนเชียล” ได้มีการระดมทุนครั้งใหญ่ที่สุดมูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป้าหมายเพื่อนำเงินไปพัฒนานวัตกรรมต่อยอดโดยเฉพาะด้านบล็อกเชนพร้อมกับแผนการขยายบริการไปทั่วโลก แต่สิ่ง

สำคัญในการระดมทุนครั้งนี้มีเงื่อนไขว่า หากกองทุนที่เข้ามาลงทุนกับแอนท์ ไฟแนนซ์เชียลแล้ว ห้ามไปลงทุนกับเครือเทนเซ็นต์เป็นอันขาด

นักวิเคราะห์ด้านการเงินหลายรายยังยอมรับว่า ยากมากที่จะคาดการณ์ว่าอนาคตใครจะขึ้นครองผู้นำบัลลังก์เทคโนโลยีการเงินของจีน เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก


ทั้งนี้ การขยายธุรกิจอย่างครอบคลุมสู่ต่างประเทศ ก็ถือเป็นความท้าทายสำคัญของทั้ง 2 ยักษ์ฟินเทคจีน แม้ปัจจุบันทั้งคู่ได้ขยายโมบายเพย์เมนต์ไปในหลายประเทศแล้วก็ตาม