
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน (2025) ซึ่งเขาประกาศให้เป็น Liberation Day หรือวันปลดปล่อย ด้วยการประกาศจัดเก็บภาษีศุลกากร แบบ Reciprocal Tariffs หรือภาษีต่างตอบโต้ อันหมายความว่าประเทศอื่นเก็บสหรัฐเท่าไหร่ สหรัฐก็จะเก็บจากประเทศนั้น ๆ ในอัตราทัดเทียมกัน โดยมี 180 กว่าประเทศที่ตกเป็นเป้า
เรียกได้ว่าเป็นการเรียกเก็บแบบครอบคลุมทุกประเทศ ไม่เลือกว่าเป็นประเทศมิตรหรือศัตรู ไม่เว้นแม้แต่ประเทศกำลังพัฒนาและยากจน ในอัตราตั้งแต่ 10% ไปจนถึง 54% ทรัมป์ยังอ้างว่านี่เป็นการเก็บเพียงครึ่งเดียวของที่ควรจะเก็บ คล้าย ๆ ว่าลดราคาให้แล้ว พร้อมกับส่งสัญญาณว่าอาจจะเก็บเพิ่มอีกในอนาคต
สำคัญกว่านั้นเป็นภาษีศุลกากรที่สหรัฐเรียกเก็บสูงที่สุดในรอบ 100 ปี สูงกว่าประธานาธิบดีคนไหน ๆ ของสหรัฐเคยเรียกเก็บจากคู่ค้า
ทรัมป์อ้างว่า มาตรการครั้งนี้ก็เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐจากการถูกประเทศอื่น ๆ เอาเปรียบมานานเรื่องภาษีศุลกากร นอกจากนี้ก็เพื่อบีบให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาลงทุนในสหรัฐ เพื่อสร้างงานในสหรัฐ
ภายหลังประกาศอัตราภาษีนี้ออกมา ทำให้บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญพากัน “อึ้ง” กับวิธีคิดภาษีของทรัมป์และทีมงาน อย่างเช่น ทรัมป์อ้างว่า จีนเก็บจากอเมริกา 67% ดังนั้น สหรัฐจะเก็บ 34% หรือเพียงครึ่งเดียวก่อน เวียดนามเก็บสหรัฐ 90% ดังนั้น เวียดนามจะโดนเก็บ 46% ประเทศไทยเก็บสหรัฐ 72% ดังนั้นสหรัฐจะเก็บ 36% เป็นต้น
ไม่เพียงสูตรคิดภาษีที่พิสดารและไม่เป็นไปตามมาตรฐานการคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์การค้าโลกเท่านั้น แต่ที่สร้างความขบขัน แต่หัวเราะไม่ออกก็คือ การที่สหรัฐจะเก็บภาษีจากเกาะที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ มีแค่นกเพนกวินอยู่ และอเมริกาก็ไม่ได้นำเข้าสินค้าใดจากเกาะเหล่านี้ และที่ร้ายไปกว่านั้น อเมริกาเก็บภาษี 10% จากประเทศที่อเมริกาเกินดุลการค้าอีกด้วย ซึ่งผิดหลักการของ Reciprocal Tariffs
พฤติกรรมดังกล่าวทำให้โลกตั้งคำถามถึง “ความน่าเชื่อถือ” ของสหรัฐ
หากเทียบกับข้อมูลขององค์การการค้าโลก (WTO) จะพบว่า อัตราภาษีที่สหรัฐคำนวณออกมานั้น สูงกว่าของ WTO แบบมหาศาล เพราะสูตรของ WTO ที่คิดแบบ “ถ่วงน้ำหนักเฉลี่ย” จะเห็นว่าประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่เก็บจากสหรัฐไม่ถึง 10% อย่างเช่น เวียดนาม เก็บจากสหรัฐแค่ 5.1% ไม่ใช่ 90% จีนเก็บจากสหรัฐ 3% ไม่ใช่ 67% ไทยเก็บจากสหรัฐ 6.3% ไม่ใช่ 72%
ผู้สังเกตการณ์หลายคนชี้ว่า สูตรที่สหรัฐคำนวณออกมานั้น ดูเหมือนจะไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยเป็นการคิดแบบง่าย ๆ แค่เอาตัวเลขที่สหรัฐขาดดุลการค้ากับประเทศนั้น หารด้วยมูลค่าที่สหรัฐนำเข้า นอกจากนั้นยังคิดแค่การค้าในรูปสินค้า (Goods) เท่านั้น ไม่ได้นำการค้าในรูปของบริการ (Services) มาคิดคำนวณ ตัวอย่าง เช่น อเมริกาขาดดุลการค้ากับจีน 295.4 พันล้านดอลลาร์ (2.954 แสนล้านดอลลาร์) ขณะเดียวกันสหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นมูลค่า 438.9 พันล้านดอลลาร์ (4.389 แสนล้านดอลลาร์) สหรัฐก็เอา 295.4/438.9 ออกมาเป็น 67% ซึ่งก็เป็นกรณีเดียวกับเวียดนามและทุกประเทศที่ถูกสหรัฐคิดแบบนี้
ตรินห์ เหงียน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสตลาดเกิดใหม่เอเชียของ Natixis ชี้ว่า สูตรที่สหรัฐคิดออกมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับความไม่สมดุลการค้า ไม่ใช่เรื่อง Reciprocal Tariffs เมื่อเป็นแบบนี้ก็ทำให้ประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศยากจน ไม่สามารถทำตามความต้องการของสหรัฐในการลดภาษี เพราะมันหมายถึงให้ประเทศเหล่านี้ต้องซื้อสินค้าอเมริกันมากกว่าที่พวกเขาส่งออกไปสหรัฐ
“สินค้าสหรัฐมีราคาแพงกว่าอย่างมาก แต่อำนาจการซื้อของประเทศเหล่านี้ต่ำ แต่กลับโดนเก็บภาษีในอัตราสูงสุด เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ไม่สมเหตุสมผลเลย”
เอียน เบรเมอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษายูเรเซีย กรุ๊ป บอกว่า นี่เป็นวิธีคิดที่ Stupid อย่างไม่น่าเชื่อ มันสะท้อนให้เห็นว่า ตัวเลขภาษีสูง ๆ ที่สหรัฐอ้างนั้นเป็นสิ่งที่ถูก “กุขึ้น”
ผลพวงจากมาตรการภาษีของทรัมป์ ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐและทั่วโลกดิ่งรุนแรงที่สุด อย่างน้อยก็ 3 วันติดต่อกัน โดยเฉพาะวันจันทร์ที่ 7 เมษายน กลายเป็นวัน “จันทร์มหาทมิฬ” สำหรับตลาดหุ้น โดยที่ดัชนีหั่งเส็งฮ่องกง ลดลงมากถึง 3,021.51 จุด หรือ 13.22% ดัชนีนิกเคอิญี่ปุ่น ลดลง 2,644 จุด หรือ 7.83%
แม้ตลาดหุ้นสหรัฐจะตกแบบนองเลือดอย่างรุนแรง อันจะสร้างความเสียหายแก่เงินบำนาญของผู้ที่กำลังจะเกษียณ แต่ทรัมป์ยืนกรานไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยทรัมป์บอกให้ชาวอเมริกันอดทนเข้าไว้ อีกไม่นานอเมริกาจะมั่งคั่งอีกครั้ง เขามั่นใจว่าจะสามารถบีบให้บริษัทอเมริกันและอื่น ๆ ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในสหรัฐภายในไม่เกิน 2 ปี
แต่ผู้เชี่ยวชาญแย้งว่า ไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะยังมีหลายประเด็นที่ต้องแก้ไขเพื่อสร้างความมั่นใจให้บริษัทต่าง ๆ อยากกลับมาลงทุนในสหรัฐ โดยเฉพาะปัญหาความไม่แน่นอน คลุมเครือของภาษีศุลกากรที่ยังไม่จบสิ้น
เอ็ดเวิร์ด มิลส์ และ เรย์มอนด์ เจมส์ นักวิเคราะห์นโยบายในวอชิงตันระบุว่า ในเมื่อเส้นทางข้างหน้ายังไม่แน่นอน ประกอบกับการสร้างศักยภาพการผลิตจะใช้เวลานาน คงยากที่จะเห็นการลงทุนขนาดใหญ่กลับมา
พานอส คูเวลิส อาจารย์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ กล่าวว่า ธรรมชาติของการลงทุนและนักธุรกิจนั้น หากพวกเขายังไม่ได้รับการประกันเรื่องความแน่นอน พวกเขาอาจลงทุนบ้างนิดหน่อยอย่างระมัดระวัง เพราะต้องการรอดูก่อน จากการวิจัยของตนเมื่อปี 2018 ในสมัยแรกของทรัมป์ พบว่าการเก็บภาษีศุลกากร ไม่ได้มีผลมากนักในการทำให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายกลับมาในสหรัฐ ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบด้านลบอีกด้วย เพราะผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าวัตถุดิบเพิ่มขึ้น
คริสโตเฟอร์ ถัง อาจารย์โรงเรียนการจัดการแอนเดอร์สัน ในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียระบุว่า ภาษีศุลกากรดังกล่าวยังไม่นิ่ง อาจเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเป็นการออกคำสั่งด้วยอำนาจฝ่ายบริหาร (Executive Orders) ของประธานาธิบดี ไม่ได้ทำผ่านสภาคองเกรส ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้นบริษัทจำนวนมากจึงไม่แน่ใจว่าจะออกแบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อย่างไร เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า
“อเมริกายังไม่พร้อมรองรับการกลับมาของบริษัทและโรงงานต่าง ๆ เพราะไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน ไม่มีคนงานเพียงพอ อีกทั้งต้นทุนก็สูง และต้องตรวจสอบด้วยว่าคนอเมริกันเต็มใจจะทำงานในโรงงานหรือไม่”
คริส สไนเดอร์ นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ชี้ว่า ภาษีคงกระตุ้นให้มีการย้ายกลับมาบ้าง แต่อย่าคาดหวังว่าจะเห็นการกลับมาแบบครั้งใหญ่ในระยะสั้น เพราะยังมีความไม่แน่นอน อาจมีแค่บริษัทเล็ก ๆ ที่สามารถกลับมาได้อย่างรวดเร็ว