
หน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์จีนกำลังกวดขันในภาคการเงินมากขึ้น โดยสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จีน (The Securities Association of China) เตรียมออกข้อปฏิบัติใหม่ที่จะลงโทษบริษัทใดก็ตาม หากพบว่าพนักงานมีพฤติกรรมอวดรวย หรือดื่มด่ำกับความหรูหราจนเกินพอดี สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจีนกำลังดำเนินความพยายามที่จะปรับโฉมอุตสาหกรรมการเงิน ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยผู้คนเงินเดือนสูง และมีวิถีชีวิตฟุ่มเฟือยจากการเก็งกำไรเกินควร
ไฉเหลียน เพรส สื่อด้านการเงินจีนรายงานว่า เกณฑ์การประเมินจะเข้มงวดขึ้นกว่าเดิมมาก โดยปัจจุบันข้อปฏิบัติที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นี้กำลังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจากคนในกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์
หากกฎดังกล่าวถูกนำไปปรับใช้จริง วัฒนธรรมบริษัทหลักทรัพย์จะมีเกณฑ์การหักคะแนนที่รุนแรง เมื่อบริษัทใดก็ตามที่มีการจ่ายเงินจูงใจอันน่าสงสัย หรือพนักงานเงินเดือนที่แสดงความมั่งคั่งออกมา
โดยแนวทางดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” หรือ “Common Prosperity” ของจีน ซึ่งมุ่งกำจัดความเหลื่อมล้ำ และควบคุมอุตสาหกรรมซึ่งถูกมองว่าขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายกำไรระยะสั้น
ภาคอุตสาหกรรมการเงินของจีนได้ถูกตรวจสอบเข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งตามมาด้วยเรื่องอื้อฉาวของคนมีชื่อเสียงมากมาย เช่น ในปี 2022 ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล แคปิตอล คอร์ป หรือ CICC ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจของรัฐ ได้สั่งพักงานเจ้าหน้าที่รายหนึ่ง หลังภรรยาอวดอ้างว่าสามีของเธอมีเงินเดือนสูงกว่า 80,000 หยวน (ราว 380,000 บาท) บนโซเชียลมีเดีย
ปี 2024 ที่ผ่านมา “ไชน่า ซีเคียวริตีส์” บริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำของจีน ได้ตกอยู่ในประเด็นสาธารณะอันร้อนแรง หลังพนักงานฝึกงานโพสต์วิดีโออวดรวยบนโซเชียลมีเดีย และทำข้อมูลลูกค้าหลุดรั่วออกไป จนนำมาซึ่งข้อกังขาต่อวัฒนธรรมองค์กร
ข้อมูลของสตาติสต้า (Statista) คนจีนในเขตเมือง มีรายได้เฉลี่ย 120,700 หยวนต่อปี และมีค่ากลางเงินเดือนราว 8,001 หยวน
สำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซของจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตแห่งชาติ ได้เปิดตัวโครงการ “ล้างบางอินฟลูเอนเซอร์ที่อวดความร่ำรวยเพื่อดึงดูดผู้ติดตาม” ภายในระยะเวลา 2 เดือน
สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวกับผู้เชี่ยวชาญในภาคการเงินอีกครั้งหนึ่ง โดยเน้นย้ำให้นักการเงินเหล่านั้นปรับแนวคิดมุ่งเน้นไปยังเสถียรภาพและการเติบโตในระยะยาวมากขึ้น แทนที่จะสนใจแค่ผลกำไรระยะสั้นเพียงอย่างเดียว โดยมุ่งเน้นการประพฤติตนอย่างซื่อสัตย์และไว้ใจได้ หลีกเลี่ยงการเก็งกำไรและการกระทำที่เสี่ยงเกินไป
ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้ผู้คนในอุตสาหกรรมการเงินจีนต้องเผชิญกับการปรับลดเงินเดือนเป็นวงกว้าง การแทรกแซงจากภาครัฐ และการปรับลดตำแหน่งงาน ซึ่งเป็นความพยายามเพื่อเปลี่ยนภาคการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของชาติ
ในช่วงต้นปี 2025 สถาบันการเงินหลายแห่งของรัฐทำการปรับลดเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูง และกำหนดเพดานเงินเดือนใหม่
กฎระเบียบใหม่มีขึ้นเพื่อเสริมความเข้มแข็งของการประเมินพนักงาน ให้ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับด้วยความซื่อสัตย์
นอกจากนี้ ไฉเหลียน เพรส ยังรายงานถึงการให้คะแนนพิเศษ แก่นักเศรษฐศาสตร์ที่คอยเผยแพร่ข้อความที่ช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่ตลาดการเงิน ผ่านสื่อของทางการอย่างขยันขันแข็งอีกด้วย
ขณะเดียวกัน บริษัทหลักทรัพย์กองทุนต่างประเทศ จะได้รับคะแนนโบนัส หากสามารถส่งเสริมตลาดทุนของจีนให้มีชื่อเสียงในสื่อนานาชาติได้ หรืออาจได้โอกาสไปแสดงความเห็นในงานประชุมระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า แนวทางดังกล่าวจะสามารถขับเคลื่อนแวดวงการเงินจีนให้มีความน่าเชื่อถือและขจัดความเหลื่อมล้ำได้ตามความต้องการของผู้กำหนดนโยบายหรือไม่