ถอดรหัส “โอเปก” ทำไมต้องเพิ่มการผลิตน้ำมัน ?

การประชุมรัฐมนตรีน้ำมันจากองค์การของกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้า (โอเปก) ร่วมกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่ไม่ได้เป็นสมาชิกโอเปก (น็อนโอเปก) ที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ด้วยความตกลงที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตร่วมกับรัสเซียจากระดับในปัจจุบันอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ในขณะเดียวกัน ตัวเลข 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่จะเพิ่มขึ้นก็เป็นตัวเลขลอย ๆ แบบไม่เป็นทางการ เพราะไม่มีการกำหนดโควตาชัดเจนว่าชาติใดจะได้โควตาการผลิตเพิ่มเท่าใด

ผลก็คือ ไม่มีใครรู้ชัดว่าโอเปก จะเพิ่มกำลังการผลิตเท่าใด และเพิ่มจริงหรือไม่ ?

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความอึมครึม คลุมเครือจนแม้แต่นักลงทุนในตลาดน้ำมัน คาดเดาแนวโน้มในระยะยาวไม่ได้

ราคาน้ำมันหลังความตกลงโอเปกครั้งนี้จึงแกว่งตัวอยู่ในช่วงแคบ ๆ สะวิงขึ้นลงไม่มาก ก่อนที่จะมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับราคาเฉลี่ยของปี 2018 นี้

นักวิเคราะห์ในแวดวงน้ำมันหลายคน รวมทั้ง ไมเคิล ลินช์ ประธานบริษัทวิจัยเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์พลังงาน เชื่อว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการระแวดระวังของโอเปกและชาติผู้ผลิตรายใหญ่นอกกลุ่มอย่างรัสเซีย ที่ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เหมือนในอดีต

ราคาน้ำมันดิบเคยพุ่งสูงถึงเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แล้วก็สร้างปัญหามากมาย น้ำมันดิบล้นตลาดและมีส่วนเกินเหลืออยู่มาก บีบจนราคาลดลงมาต่ำสุดถึง 27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (เมื่อเดือนมกราคม 2016) ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันกันถ้วนหน้าบางประเทศ อาทิ เวเนซุเอลา เกิดวิกฤตคาราคาซังจนแก้ไม่ตกจนถึงขณะนี้

บทเรียนครั้งนั้นทำให้สิ่งที่โอเปกและประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบต้องการ ไม่ใช่ราคาที่สูงลิ่ว แต่เป็นราคาซึ่งมีเสถียรภาพและอยู่ในระดับที่เหมาะสม  แต่การเพิ่มการผลิต ใช่ว่าจะเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำมันดิบในตลาด แล้วกดดันราคาลงมาอีกไม่ใช่หรือ?

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ เมื่อครั้งที่โอเปก ทำข้อตกลงลดการผลิตน้ำมันลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่เรียกกันว่าข้อตกลงแอลเจียร์สเมื่อปี 2016 เพื่อระบายน้ำมันส่วนเกินออกจากตลาดนั้น ในความเป็นจริงผลผลิตของโอเปกลดลงมากกว่า 1.2 ล้านบาร์เรลจริง ๆ แล้วปริมาณการผลิตน้ำมันป้อนสู่ตลาดลดลงมากกว่าเป้าหมาย คือลดลงถึง 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

เหตุผลเป็นเพราะ 7 ชาติในจำนวนทั้งหมด 12 ชาติสมาชิก โดยเฉพาะ เวเนซุเอลา, อิหร่าน, ลิเบีย และไนจีเรีย มีปัญหาแตกต่างกันออกไปแต่ลงเอยด้วยการผลิตน้ำมันป้อนตลาดน้อยกว่าที่คิด

แซร์จ มาโซดิลา ผู้จัดการอาวุโสและหัวหน้าแผนกค้าพลังงานของแอลจีอีเนอร์ยี กรุ๊ป จึงเชื่อว่า เป้าหมายจริง ๆ ของโอเปกครั้งนี้ คือการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นทดแทน 7 ชาติดังกล่าว เพื่อให้ปริมาณน้ำมันดิบที่ไหลเข้าสู่ตลาดกลับเข้าสู่ระดับที่ต้องการในความตกลงแอลเจียร์ส คือลดลงจากเมื่อก่อนหน้านี้ เพียง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไม่ใช่ 1.9 บาร์เรลต่อวัน

นั่นคือ ความตกลงเพิ่มการผลิตของโอเปกจริง ๆ คือเพิ่มเพียง 600,000-700,000 บาร์เรลต่อวัน แต่อาจจะถึง1 ล้านบาร์เรล หากปัญหาในเวเนซุเอลาทรุดหนักมากกว่านี้

นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า การที่ไม่ได้กำหนดโควตาแล้วทุกชาติยอมรับได้ นั้นเป็นเพราะมีชาติสมาชิกโอเปกเพียงไม่กี่ชาติเท่านั้น ที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ทันที ลินช์ระบุว่าประเทศที่มีศักยภาพการผลิตสำรองพอที่จะผลิตน้ำมันเพิ่มได้ทันที มีเพียง ซาอุดีอาระเบีย, อิรัก แล้วก็รัสเซีย ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิก

แม้แต่รัสเซียเอง การเพิ่มการผลิตก็ไม่สามารถทำได้ทันที แต่ต้องใช้เวลา “นานหลายเดือน” ทุกอย่างจึงเหมือนอยู่ในกำมือของซาอุดีอาระเบีย ที่แสดงท่าทีชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้เกิดทั้งภาวะ “ล้นตลาด” และ “ขาดตลาด” เกิดขึ้นกับตลาดน้ำมันดิบโลกอีก

แต่ตลาดน้ำมันในยุคนี้ต่างจากที่เคยอยู่ในกำมือของโอเปกมากแล้ว ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้ผลิตน้ำมันจากหินน้ำมัน หรือเชลออยล์ในสหรัฐอเมริกา แห่กันผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดกันมากขึ้นทุกที

สหรัฐอเมริกาผลิตน้ำมันอยู่ที่ 5.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะนี้หรือเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 10 ปีก่อนถึงกว่า 140 เปอร์เซ็นต์ และคิดเป็นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลกเริ่มกินส่วนแบ่งการตลาดของโอเปกมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งลดอำนาจอิทธิพลในการกุมชะตาราคาน้ำมันดิบของโอเปกลงด้วยเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ถ้าหากราคาน้ำมันจะขยับเป็นขาขึ้นในครั้งนี้สาเหตุก็น่าจะมาจากส่วนของดีมานด์เป็นสำคัญ ตัวล่าสุดนั้นแสดงให้เห็นว่า ความต้องการน้ำมันของประเทศนอกกลุ่มโออีซีดี เพิ่มขึ้นมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์

เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นและคาดว่าจะขยายตัวในปีนี้ 3.8 เปอร์เซ็นต์จริง คาดกันว่าจะทำให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอีก 1.44 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็น 98.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน


แต่นักวิเคราะห์ยังเชื่อว่า การที่ระดับน้ำมันดิบสำรองคงคลังของโลก ยังคงอยู่ใกล้เคียงหรือสูงกว่าระดับเฉลี่ยในรอบ 5 ปี และเงาทะมึนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน, สหภาพยุโรปจะยังคงทำให้ราคาน้ำมันดิบยังคงอ่อนตัวลงหรือทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบันนี้ ตลอดครึ่งหลังของปีนี้และอาจเลยไปจนถึงต้นปี 2019 อีกด้วย