‘เบื้องหลัง’ สหรัฐ-จีนพักรบ 90 วัน ผู้เชี่ยวชาญเตือนยากจะ ‘ยั่งยืน’

Behind the scenes of the United States and China
A newspaper with a picture of U.S. President Donald Trump is seen at a shop in San Francisco's Chinatown as trade tensions escalate over U.S. tariffs with China, in California, U.S., April 14, 2025. REUTERS/Carlos Barria
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

การบรรลุข้อตกลงชั่วคราวระหว่างสหรัฐและจีนในสงครามการค้าและสงครามภาษี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม โดยที่สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะลดการเก็บภาษีระหว่างกันลงฝ่ายละ 115% เป็นเวลา 90 วัน โดยสหรัฐจะลดให้จีนจาก 145% เหลือ 30% และจีนลดจาก 125% เหลือ 10% ถูกมองว่าเป็นการบรรลุข้อตกลงที่ “ง่ายและเร็วกว่าที่คาด”

หลังจากวันที่ 2 เมษายน ซึ่งประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศเก็บภาษีต่างตอบโต้กับทุกประเทศรวมถึงจีน ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงออกชัดว่าจะไม่มีใครยอมใคร เพราะคิดว่าตัวเองถือไพ่เหนือกว่า โดยฝ่ายจีนประกาศลั่นว่าจะสู้จนถึงที่สุด ถึงไหนถึงกัน จะประกาศตัวเลขภาษีระดับไหนมาก็ไม่หวั่น ส่วนสหรัฐก็มั่นใจว่าตัวเองเหนือกว่า เพราะเป็นลูกค้ารายใหญ่ของจีน ถึงอย่างไรจีนก็ต้องง้อ

แต่การประชุมของผู้แทนจากสองประเทศระหว่าง “สกอตต์ เบสเซนต์” รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และ “เหอ หลี่เฟิง” รองนายกรัฐมนตรีจีน ที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลาง ใช้เวลาเพียง 2 วันก็ตกลงกันได้ ยอมสงบศึกชั่วคราว 90 วัน เป็นข่าวใหญ่ที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกพุ่งราวจรวด

ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานว่า แท้จริงแล้วเบื้องหลังก่อนจะมาเป็นการบรรลุข้อตกลงที่ดูเหมือนเร็วเกินคาดนี้ สองฝ่ายได้ปูพื้นและเตรียมการมาก่อนแล้ว ประมาณเกือบ 3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ที่ชั้นใต้ดินของสำนักงานใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในช่วงที่ สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังของสหรัฐไปร่วมประชุม
ไอเอ็มเอฟ

และได้พบปะ “อย่างลับ ๆ” กับ “หลาน โฟอัน” รัฐมนตรีคลังของจีน โดยทั้งสองได้หารือกันถึงสถานการณ์ที่เกือบจะ “พังทลาย” ของการค้าระหว่างสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ถือเป็นการพบปะของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสองฝ่ายเป็นครั้งแรกนับจากทรัมป์ประกาศเก็บภาษีสูงลิ่วกับจีน

หลังดีลครั้งนี้ ยังมีคำถามว่า แล้วใครกันแน่เป็นฝ่าย “ยอม” หรือ “กะพริบตา” ก่อน เพราะฝ่ายจีนก็อ้างว่านี่คือชัยชนะครั้งใหญ่ โลกโซเชียลจีนต่างก็พากันพูดว่าอเมริกา “ตาขาว” ก่อน ส่วนโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ชี้ว่านี่คือชัยชนะ มันคือการ “รีเซต” ทุกอย่างใหม่หมดกับจีน

นักเศรษฐศาสตร์หลายคน เช่น เอลิเซีย การ์เซีย-เฮอร์เรโร นักเศรษฐศาสตร์ของ Natixis วาณิชธนกิจแห่งฝรั่งเศส ชี้ว่าสหรัฐเป็นฝ่ายกะพริบตาก่อน เพราะสหรัฐ “เล่นเกินตัว” ด้วยการขึ้นภาษีเร็วและมากเกินไป คิดว่าตัวเองจะสามารถขึ้นภาษีสูง ๆ ได้อย่างไม่สิ้นสุดโดยไม่เจ็บปวด แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่เลย

ADVERTISMENT

เธอกล่าวด้วยว่า ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายมีความเปราะบางต่อภาษีมากกว่า แต่ดูจากความเร็วที่สองฝ่ายยอมทำข้อตกลงกัน บ่งชี้ว่าสงครามการค้าสร้างความเจ็บปวดรุนแรงให้กับทั้งสองประเทศ การแยกขาดจากกันของสองประเทศในด้านการค้าเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจ เสี่ยงจะทำให้คนจีนตกงาน ส่วนสหรัฐก็มีความเสี่ยงจะเกิดเงินเฟ้อและขาดแคลนสินค้าสำหรับผู้บริโภค

Chinese President Xi Jinping arrives in Moscow ahead of Victory Day celebrations
Chinese President Xi Jinping waves during a welcoming ceremony upon his arrival at an airport in Moscow, Russia, May 7, 2025. Grigory Sysoyev/Host agency Ria Novosti/Handout via REUTERS ATTENTION EDITORS – THIS IMAGE WAS PROVIDED BY A THIRD PARTY.

“ลาร์รี ซัมเมอร์ส” อดีตรัฐมนตรีคลังในยุครัฐบาล บิลส์ คลินตัน ชี้ว่า ชัดเจนว่าทรัมป์เป็นฝ่ายกะพริบตาก่อน เพราะทรัมป์เป็นฝ่ายพูดว่าจะเก็บภาษีกับจีนในระดับนี้ไปแบบไม่มีกำหนดเวลา ในขณะที่จีนไม่ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายอะไร

“บางครั้งเป็นเรื่องดีที่จะกะพริบตา เมื่อคุณทำผิดพลาด มันดีเสมอที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง และยอมถอย แม้ว่ามันจะทำให้ขายหน้าเล็กน้อย” อดีตรัฐมนตรีคลังกล่าว และว่าถึงแม้ตนจะใจชื้นขึ้นมาบ้างที่รัฐบาลนี้ดึงดันน้อยลงที่จะใช้นโยบายที่สร้างหายนะ แต่ก็ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงเศรษฐกิจถดถอยได้ 100% ยังมีความเสี่ยงจะถดถอยอยู่ราว 50/50

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เส้นทางข้างหน้ายังขรุขระยากลำบากสำหรับการจะบรรลุข้อตกลงที่ยั่งยืน เพราะเป็นเพียง “พักรบ” การเจรจาของสองฝ่ายน่าจะมีสภาพเหมือน “รถไฟเหาะตีลังกา” ตลาดเพียงแค่สามารถหายใจด้วยความโล่งอกเพียงชั่วคราว แต่ยังไม่มีอะไรใกล้เคียงที่จะบอกได้ว่า “ปัญหาใกล้จะได้รับการแก้ไข” โดยคาดว่าหลังจากนี้ภาษีที่สหรัฐจะเก็บจากสินค้าจีนจะอยู่ที่ประมาณ 40% ส่วนจีนจะเก็บจากสหรัฐประมาณ 25%

ขณะเดียวกัน หากจีนสามารถทำข้อตกลงกับสหรัฐเรื่องเฟนทานิล ก็เท่ากับว่าภาษี 20% ก็จะถูกยกเลิกไป ทำให้จีนสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่ส่งออกไปยังสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของสองประเทศหลังจากนี้คงยังมีปัญหาต่อไป ความไม่แน่นอนด้านนโยบายของทรัมป์จะผลักดันให้จีนกระจายการส่งออกไปตลาดอื่นเพื่อลดความเสี่ยง พร้อมกันนั้นก็จะเพิ่มการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

นอกจากนั้น ช่วงเวลาพักรบ 90 วันนี้ ก็จะทำให้ผู้ส่งออกจีนเร่งส่งออกไปสหรัฐ อันจะทำให้จีนเกินดุลการค้ากับสหรัฐพุ่งขึ้นอีกครั้ง

เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐอ้างว่า การพบปะกับฝ่ายจีนที่สวิตเซอร์แลนด์ เห็นแนวโน้มทางบวกจากฝ่ายจีนที่จะแก้ปัญหาเฟนทานิล “ผมรู้สึกประหลาดใจเมื่อเห็นระดับความต้องการมีส่วนร่วมของจีนในวิกฤตเฟนทานิล”

รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวด้วยว่า ข้อตกลงครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าของสหรัฐในการ “แยกจากจีน” ในเชิงยุทธศาสตร์ เป็นอีกก้าวหนึ่งในการสลัดตัวออกจากการพึ่งพาสินค้าจีนหลังจากไม่คืบหน้ามาหลายปี แต่ไม่ได้หมายถึงการแยกตัวเป็นการทั่วไป แค่แยกในสิ่งที่จำเป็น

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในรัฐบาลทรัมป์เปิดเผยว่า ทั้งจีนและสหรัฐต่างถอยคนละก้าว โดยจีนเสนอจะยกเลิกมาตรการตอบโต้ที่ไม่ใช่ภาษี (Nontariff) ทั้งหมด และยอมรับการเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับเฟนทานิล ส่วนสหรัฐยินยอมที่จะให้จีนตอบโต้ในระดับหนึ่งในจำนวนเล็กน้อย ซึ่งต่างจากจุดยืนของสหรัฐที่มีต่อประเทศอื่น ๆ ที่ห้ามตอบโต้ และเชื่อว่ามาตรการภาษีต่างตอบโต้เมื่อวันที่ 2 เมษายนของทรัมป์ จะทำให้คู่ค้าของสหรัฐรายอื่น ๆ ยกเลิกการกีดกันการค้าด้วยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีกับสหรัฐ