จับตา “จีน” ขยับลงทุนอาเซียนระลอกใหม่

China invests in ASEAN
Dices with the words SELL BUY on the edges. On background the chart of the fall of the stock index of Chinese companies on the smartphone screen. The concept of investment in the Chinese economy.

ขณะที่ผลการเจรจานัดแรกระหว่างสหรัฐกับจีนที่นครเจนีวาเป็นไปด้วยดี โดยทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงลดภาษีชั่วคราว 90 วัน ทำให้สินค้านำเข้าจากจีนที่โดนอัตราภาษี 145% ลดลงเหลือ 30% เช่นเดียวกัน สินค้านำเข้าจากสหรัฐที่โดนอัตราภาษี 125% เหลือเพียง 10% นับเป็นความคืบหน้าครั้งใหญ่ สมคำพูดของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้ซึ่งคาดเดาอะไรแน่นอนได้ยาก

นักลงทุนทั่วโลกตอบรับผลการหารือดังกล่าวทันที สินทรัพย์สหรัฐ ทั้งตลาดหุ้น และค่าเงินปรับตัวขึ้นครั้งใหญ่ ราคาทองร่วงลงต่อเนื่องจากเสียงสะท้อนว่าความตึงเครียดการค้าอาจคลี่คลายได้ในที่สุด

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า แม้กำแพงภาษีจะลดลงอย่างมาก แต่ผู้ประกอบการชาวจีนหลายรายยังคงวางแผนเพิ่มการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย เพื่อเร่งปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานระดับโลกต่อไป อาทิ “วีลง เอ็นเตอร์ไพรส์” (Velong Enterprise) บริษัทผลิตอุปกรณ์เครื่องครัวและทำอาหารของจีน ยังคงยืนยันขยายการลงทุนนอกประเทศต่อไป หลังปริมาณการส่งออกจากโรงงานในจีนลดลงจนแทบจะเป็นศูนย์ จากการที่ทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีอัตรา 145%

ขณะที่บริษัทร่วมทุนในกัมพูชาและอินเดียกลับพุ่งทะยานขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการนําเข้าสินค้ามาจําหน่ายในสหรัฐต่างพากันยื้อแย่งหาแหล่งจัดซื้อวัตถุดิบแห่งใหม่ทดแทน

สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะผู้ประกอบการจีนยังคงไม่ไว้ใจทรัมป์ จากพฤติกรรมที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่ง “เจคอบ ร็อธแมน” ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งวีลง เอ็นเตอร์ไพรส์ ระบุว่า ลูกค้าสหรัฐหลายรายยังคงไม่สบายใจที่จะสั่งซื้อสินค้ากับจีนต่อไป เนื่องจากไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าอัตราภาษีจะเพิ่มหรือลดลงอีกเมื่อไร

จิ่ญ เหงวียน (Trinh Nguyen) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากแนติซิส (Natixis) วาณิชธนกิจในฮ่องกง กล่าวว่า ภาษีศุลกากรของสหรัฐจะนำไปสู่การสับเปลี่ยนด้านห่วงโซ่อุปทานอย่างถาวร และจะทำให้เกิดการบูรณาการระดับภูมิภาคอย่างเข้มข้น

ขณะที่ข้อมูลสำนักงานศุลกากรจีนในเดือนเมษายน 2025 พบว่า จีนมีการส่งออกไปสหรัฐลดลง 21% หลังมีการประกาศเก็บภาษีในช่วงต้นเดือนเมษายน แต่ยอดส่งออกไปอาเซียนเพิ่มขึ้น 21% และส่งออกไปสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 8% แสดงให้เห็นถึงการเร่งส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่สาม ก่อนที่มาตรการภาษีแบบตอบโต้จะเริ่มมีผลในเดือนกรกฎาคม

ADVERTISMENT

อัลลิอันซ์ เทรด (Allianz Trade) วิเคราะห์ว่า ยุทธศาสตร์ China+1 จะเข้มข้นขึ้นในยุคทรัมป์ 2.0 เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ในเอเชียต่างต้องการขยายฐานการผลิตใหม่ในเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

ขณะที่จากผลสำรวจของคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (CCPIT) ชี้ว่า กว่า 75% ของผู้ส่งออกชาวจีนทั้งหมด 1,100 คน มีแผนที่จะขยายกิจการไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) และบอกว่าจะลดการทำธุรกิจกับสหรัฐกันเกือบครึ่ง

อย่างไรก็ดี การขยายการลงทุนของจีนเข้าอาเซียนครั้งนี้ก็ต้องมีความระมัดระวัง และเป็นโมเดลที่สหรัฐยอมรับว่า ไม่ใช่รูปแบบที่จีนใช้ประเทศที่ 3 เป็นทางผ่านในการส่งออกเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากที่ทรัมป์เรียกเก็บภาษีตอบโต้กับบรรดาชาติอาเซียนที่เป็นพันธมิตรของจีน ในอัตราที่ค่อนข้างสูงเพื่อสกัดกั้นปัญหาดังกล่าว