Moody’s ปรับลด สหรัฐสูญเสียเครดิตเรตติ้ง Aaa

ภาพ ท้องฟ้าเหนือแมนฮัตตัน (รอยเตอร์)

สหรัฐสูญเสียอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดจากบริษัทจัดอันดับเรตติ้งเครดิตอีกแห่ง หลังจากถูกมูดี้ส์ ปรับลดจาก Aaa เป็น Aa1 เนื่องจากกังวลหนี้สาธารณะพุ่งทะเลุ 36 ล้านล้านดอลลาร์และขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง

บลูมเบิร์ก (Bloomberg) และรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า มูดี้ส์ (Moody’s) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของสหรัฐ จาก Aaa เป็น Aa1 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น ถือเป็นการประกาศปลดสหรัฐออกจากอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุด สะท้อนถึงความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นว่าหนี้สินและการขาดดุลงบประมาณที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสถานะของสหรัฐ ในฐานะจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งสำหรับเงินทุนโลก และเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาล

การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐจาก Aaa เป็น Aa1 ของมูดี้ส์ ซึ่งก่อนหน้านี้ถือเป็นหน่วยงานจัดอันดับเครดิตหลักแห่งสุดท้ายจากสามแห่งที่รักษาอันดับเครดิตสูงสุดระดับ AAA สำหรับอเมริกาไว้ เปลี่ยนมาเข้าร่วมกับฟิทช์ เรตติ้งส์ และเอสแอนด์พี โกลบอล เรตติ้งส์ ในการจัดระดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐต่ำกว่าระดับสูงสุด หรือระดับ AAA ดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้ปรับมุมมองเครดิตจาก “ลบ” เป็น “คงที่”

การปรับลดอันดับข้างต้นเกิดขึ้นห่างกันกว่า 1 ปีหลังจากที่มูดี้ส์เปลี่ยนลดมุมมองความน่าเชื่อถือของสหรัฐเป็น “ลบ” เมื่อปี 2023

“แม้ว่าเราจะรับรู้ถึงจุดแข็งทางเศรษฐกิจและการเงินที่สำคัญของสหรัฐ แต่เราเชื่อว่าจุดแข็งเหล่านี้ไม่สามารถชดเชยการลดลงของตัวชี้วัดฐานะทางการคลังได้อีกต่อไป” มูดี้ส์ระบุในแถลงการณ์

ดาร์เรล ดัฟฟี ศาสตราจารย์ด้านการเงิน มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและอดีตสมาชิกบอร์ดของมูดี้ส์กล่าวว่า ถือเป็นหลักฐานเพิ่มขึ้นอีกว่าสหรัฐมีหนี้มากเกินไป

ในแถลงการณ์ มูดี้ส์กล่าวโทษรัฐบาลชุดต่อๆ มาและรัฐสภาว่าเป็นต้นเหตุของการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะลดลง  จากสาเหตุสมาชิกรัฐสภาหรัฐยังคงผลักดันร่างกฎหมายลดหย่อนภาษีและการใช้จ่ายครั้งใหญ่ต่อไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะทำให้หนี้ของรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นหลายล้านล้านดอลลาร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 134% ของ GDP ภายในปี 2035 เมื่อเทียบกับ 98% ในปี 2024

ADVERTISMENT

การปรับลดความน่าเชื่อถือจากระดับสูงสุดมาจากความกังวลเกี่ยวกับการผลักดันร่างกฎหมายลดหย่อนภาษีต่อเนื่องจากปี 2017 จะสร้างหนี้สาธารณะพอกพูนเป็น 36,000,000,000,000 ดอลลาร์ (ราว 1,203,120,000,000,000 บาท) ซึ่งการปรับลดเป็นการเคลื่อนไหวที่สร้างความประหลาดใจ อาจทำให้ความพยายามของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐที่จะลดหย่อนภาษีในประเทศได้ยากลำบากยิ่งขึ้น และส่งผลกระทบต่อตลาดทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม สตีเฟน มัวร์ อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจอาวุโสของทรัมป์และนักเศรษฐศาสตร์ที่มูลนิธิเฮอริเทจ เรียกการเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า “น่าตกใจ” พร้อมถามกลับไปยังมูดีส์ว่า หากพันธบัตรรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐไม่ใช่สินทรัพย์ที่ได้ A สามตัว แล้วอะไรล่ะที่ถือเป็นสินทรัพย์ประเภท A