
ล่าสุดเมื่อ 18 พฤษภาคม สกอตต์ เบสเซนต์ รมว.คลังสหรัฐ ไปออกรายการทอล์กโชว์ “State of the Union with Jake Tapper” แบบคุยตัวต่อตัว ของ CNN กล่าวว่า อัตราภาษีนำเข้าจะกลับไปที่ระดับเดิมเมื่อ 2 เมษายน หากประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐ ในช่วงระหว่างที่มีการพักเก็บภาษี 90 วัน ซึ่งสำหรับไทยอยู่ที่ระดับ 36% แต่ไม่ได้บอกว่าอัตราภาษีนำเข้าจะกลับไปเป็นอัตราแบบ “ตอบแทนหรือต่างตอบโต้” เมื่อไร
“ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แจ้งให้ประเทศต่าง ๆ ทราบแล้วว่าหากไม่เจรจาด้วยความจริงใจ ระดับภาษีของประเทศนั้น ๆ จะลดลงกลับไปสู่ระดับเดิมที่ประกาศเมื่อ 2 เมษายน” เบสเซนต์กล่าว
อัตราภาษีรายภูมิภาค
เบสเซนต์กล่าวว่า มีคู่ค้าที่สำคัญ 18 รายที่สหรัฐให้ความสำคัญมากที่สุดในการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลง
นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ทางการค้าขนาดเล็กอีกมากมาย ทำให้อีกความรู้สึกหนึ่งของเบสเซนต์ก็คือ สหรัฐจะทำข้อตกลงระดับภูมิภาคจำนวนมาก อาทิ อัตราภาษีสำหรับภูมิภาคอเมริกากลาง อัตราภาษีสำหรับพื้นที่นี้ของทวีปแอฟริกา
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐประกาศกำหนดอัตราภาษีศุลกากร “ตอบแทนหรือตอบโต้” ในวันที่ 2 เมษายน ซึ่งทรัมป์เรียกว่า เป็น “วันปลดแอกอเมริกา” ต่อมาได้ระงับการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวเป็นเวลา 90 วัน ซึ่งทำให้ภาษีลดลงเหลืออัตราพื้นฐาน 10%
สหรัฐไม่สามารถพบเจรจากับทุกประเทศ
เมื่อวันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทรัมป์กล่าวว่าเวลาใกล้หมดลงแล้วที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องตกลงการค้ากับสหรัฐ
ทรัมป์ระบุว่า มี 150 ประเทศที่ต้องการตกลงการค้ากัน แต่สหรัฐไม่สามารถพบประเทศจำนวนมากขนาดนั้นได้ ทรัมป์กล่าวระหว่างการประชุมโต๊ะกลมทางธุรกิจในกรุงอาบูดาบีช่วงเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และว่า ดังนั้นในช่วงเวลาหนึ่ง ในอีกสองถึงสามสัปดาห์ข้างหน้า ทรัมป์คิดว่า เบสเซนต์และโฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ จะส่งหนังสือแจ้งไปยังประเทศต่าง ๆ และโดยพื้นฐานแล้วเป็นการแจ้งให้ทราบ ซึ่งทรัมป์บอกว่าทางสหรัฐจะยุติธรรมต่อประเทศนั้น ๆ อย่างมาก และในหนังสือจะระบุว่า จะต้องจ่ายภาษีเท่าไรเพื่อทำให้สามารถทำธุรกิจในสหรัฐได้
กดดันวอลมาร์ต ผู้บริโภคแบ่งรับภาระภาษี
เบสเซนต์ยังถูกถามเกี่ยวกับผลกระทบและความไม่แน่นอนที่เกิดจากภาษีของทรัมป์ เขากล่าวตอบว่ากลยุทธ์การเจรจาของรัฐบาลคือ “ความไม่แน่นอนเชิงกลยุทธ์”
เมื่อถูกถามถึงผลกระทบที่ภาษีศุลกากรจะมีต่อธุรกิจขนาดเล็กที่พึ่งพาสินค้าที่ผลิตในจีน เบสเซนต์ตอบว่าเขาคิดว่าสหรัฐจะยังคงค้าขายกับจีนในสินค้าประเภทที่ธุรกิจขนาดเล็กให้ความสำคัญด้วยระดับภาษีศุลกากรที่ต่ำลง
ทั้งนี้ ธุรกิจขนาดเล็กของอเมริกาจำนวนมากเผชิญกับความเสี่ยงร้ายแรง เนื่องจากต้นทุนพุ่งสูงขึ้นและแผนการเติบโตไม่แน่นอนเนื่องจากอัตราภาษีที่ผันผวน บริษัทต่าง ๆ ผลักภาระภาษีศุลกากรให้กับลูกค้าด้วยการขึ้นราคาเพื่อหลีกเลี่ยงการลดอัตรากำไร ซึ่งเป็นแนวคิดที่รัฐบาลทรัมป์โต้แย้งมาโดยตลอด
ยกตัวอย่าง วอลมาร์ต ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกเป็นหนึ่งในบริษัทอเมริกันล่าสุดที่เตือนเกี่ยวกับการขึ้นราคาสินค้า ต่อมาเมื่อวันเสาร์ ทรัมป์บอกกับบริษัทในโพสต์บน Truth Social ว่า “ให้รับภาระภาษีศุลกากร”
เบสเซนต์กล่าวว่าเขาได้พูดคุยโดยตรงกับดัก แมคมิลลอน ซีอีโอวอลมาร์ตว่า วอลมาร์ตจะดูดซับภาษีศุลกากรบางส่วน และบางส่วนอาจส่งต่อไปยังผู้บริโภค
ต่อกรณี สหรัฐสูญเสียอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดจากบริษัทจัดอันดับเรตติ้งเครดิตอีกแห่ง หลังจากถูกมูดีส์ (Moody’s) ปรับลดจาก Aaa เป็น Aa1 เนื่องจากกังวลหนี้สาธารณะจะพุ่งทะเลุ 36 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 1,200 ล้านล้านบาท) ในอีก 10 ปีข้างหน้า และขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง
การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐจาก Aaa เป็น Aa1 ของมูดีส์ ซึ่งก่อนหน้านี้ถือเป็นสถาบันจัดอันดับเครดิตหลักแห่งสุดท้ายจากสามแห่งที่รักษาอันดับเครดิตสูงสุดระดับ AAA สำหรับอเมริกาไว้ เปลี่ยนมาเข้าร่วมกับฟิทช์ เรตติ้งส์ และเอสแอนด์พี โกลบอล เรตติ้งส์ ในการจัดระดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐต่ำกว่าระดับสูงสุด หรือระดับ AAA ดังกล่าว
เบสเซนต์กล่าวว่า เขาไม่เชื่อถือการปรับลดอันดับของมูดีส์มากนัก