อังกฤษจ่อปรับสัมพันธ์อียู ฟื้นการค้า ครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่เบร็กซิต

ธงสหภาพยุโรปหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารกลางยุโรป ภาพโดย REUTERS/Jana Rodenbusch
ธงสหภาพยุโรปหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารกลางยุโรป ภาพโดย REUTERS/Jana Rodenbusch

อังกฤษจ่อปรับสัมพันธ์อียู ฟื้นการค้า ความมั่นคงครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่เบร็กซิต ท่ามกลางระเบียบโลกที่กำลังสั่นคลอน

รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า อังกฤษจ่อบรรลุข้อตกลงปรับความสัมพันธ์กับทางสหภาพยุโรป (EU) ครั้งสำคัญนับตั้งแต่ถอนตัว (Brexit) ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2025 เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านการค้า การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสริมความมั่นคงในภูมิภาค

เคียร์ สตาร์เมอร์ (Kier Starmer) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ผู้ซึ่งสนับสนุนการเข้าร่วมสหภาพยุโรป วางเดิมพันครั้งสำคัญ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าวว่าเป็น “การทรยศต่อเบร็กซิต” (Brexit betrayal)

โดยสตาร์เมอร์อธิบายว่า โลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วนับตั้งแต่เกิดเบร็กซิตในปี 2020 และการปรับความสัมพันธ์ครั้งใหม่จะเอื้อให้บริษัทในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอังกฤษมีส่วนร่วมในโครงการสั่งสมอาวุธมูลค่ากว่า 150,000 ล้านยูโร (ราว 5.58 ล้านล้านบาท) ของสหภาพยุโรป

การปรับความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางระเบียบโลกที่กำลังสั่นคลอน และถูกเขย่าโดยโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐ และการรุกรานยูเครนเต็มกำลังของรัสเซีย ซึ่งทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องทบทวนความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง การค้ากันใหม่

อังกฤษบรรลุข้อตกลงกับอินเดียเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม และสามารถบรรเทามาตรการภาษีบางส่วนจากสหรัฐได้ ขณะที่สหภาพยุโรปก็เร่งความพยายามในการสร้างข้อตกลงการค้าและความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายดำเนินต่อเนื่องจนถึงเย็นวันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม ก่อนที่เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และอันโตนิโอ คอสตา (Antonio Costa) ประธานสภายุโรป จะเดินทางถึงกรุงลอนดอนในเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งทูตจากสหภาพยุโรปย้ำเตือนว่า ขณะนี้ยังไม่มีการตกลงใด ๆ เกิดขึ้น

ADVERTISMENT

จากประเด็นที่ได้หารือพบว่า อังกฤษต้องการลดการตรวจตราชายแดน และความล่าช้าของเอกสารในการส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป รวมถึงขอสิทธิให้คนอังกฤษใช้ e-Gate ซึ่งช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจคนเข้าเมืองของสนามบินในอียู และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษอย่างมาก

เพื่อเป็นการตอบแทน อังกฤษอาจตกลงเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา Erasmus+ และเปิดโครงการย้ายถิ่นฐานสำหรับเยาวชน (youth mobility scheme) ขณะที่ฝรั่งเศสยังเรียกร้องสิทธิในการประมงระยะยาว ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นอ่อนไหวในช่วงเบร็กซิต

ต้องกล้าแหกขนบ

เนื่องจากสตาร์เมอร์สัญญาว่าจะไม่กลับเข้าร่วมตลาดเดี่ยว (Single Market) หรือ สหภาพศุลกากร (Customs Union) กับสหภาพยุโรปอีกครั้ง จึงไม่อาจก่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม สตาร์เมอร์พยายามที่จะต่อรองให้อังกฤษเข้าถึงตลาดในกลุ่มที่สำคัญบางส่วน ขณะที่สหภาพยุโรปคัดค้าน เพราะเป็นการเลือกเอาแต่ได้ โดยไม่คิดจะแบกความรับผิดชอบเช่นเดียวกับสมาชิกสหภาพยุโรปประเทศอื่น ๆ

อังกฤษจำเป็นต้องยอมรับมาตรฐานของสหภาพยุโรป หากต้องการลดขั้นตอนของเอกสารทางการค้า ซึ่งสตาร์เมอร์อาจให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่คุ้มค่า และช่วยประหยัดต้นทุนด้านอาหาร พร้อมสร้างความเจริญเติบโตให้กับเศรษฐกิจที่ซบเซา
ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าซึ่งเป็นบุคคลที่ให้คำแนะนำกับทั้งนักการเมืองในอังกฤษและในสหภาพยุโรปกล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษจำเป็นต้องแหกขนบและยอมรับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและธุรกิจรายย่อย

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญการค้าอีกรายหนึ่งกล่าวเช่นกันว่า อังกฤษจะได้รับประโยชน์ด้านความมั่นคงอย่างมาก จากการทำข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งการกระชับความสัมพันธ์เป็นการกระทำที่สมเหตุสมผลท่ามกลางโลกที่กำลังผันผวน