
“เราอยู่ในโลกที่ทุก ๆ อุตสาหกรรมจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี และการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่เป็นสิ่งจำเป็นขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่ อีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลา เคยกล่าวไว้ว่า เมื่อถึงยุคหนึ่งสมาร์ทโฟนจะหายไป และเปลี่ยนรูปแบบเป็นการฝังชิปในสมอง พร้อมดาวน์โหลดข้อมูลต่าง ๆ แทน ดังนั้น ทิศทางการปรับตัวในหลายอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงในอนาคต สำคัญกับการปรับรูปแบบธุรกิจและแนวคิดของตัวเอง” เจฟฟรี โรเจอร์ส ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา มหาวิทยาลัยซิงกูลาลิตี้ จากซิลิคอนวัลเลย์ กล่าวในงานสัมมนา “SingularityU Thailand Summit 2018”
เป็นครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาระดับโลกกับคอนเซ็ปต์ “การเติบโตแบบก้าวกระโดด” ซึ่งยกทัพผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในแขนงต่าง ๆ จากซิลิคอนวัลเลย์ มาจุดประกายผู้ประกอบการไทย ผ่านการถ่ายทอดแนวคิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ และฉายภาพโลกอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ใน 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ พลังงาน การเกษตร และการแพทย์
- เปิดตัว “คอร์ทยาร์ด บาย แมริออท กรุงเทพฯ สุวรรณภูมิ” ห่างสนามบิน 10 นาที
- พระราชินี ทรงนำทีมแข่งขันเรือใบนานาชาติ เข้าเส้นชัยอันดับ 1
- 3 “ท่าเรือบกอีสาน” รุกคืบอุดรฯเปิดนิคมเชื่อม “รถไฟจีน-ลาว”
เปลี่ยนอนาคต “พลังงาน”
นายราเมซ นาม ประธานร่วม ฝ่ายการวิเคราะห์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของ SingularityU กล่าวว่า หนึ่งในความสำคัญของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันมีส่วนทำให้พลังงานราคาถูกลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ราคาถูกลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ยิ่งพื้นที่ใดมีแดดแรงที่สุดหรือลมแรงที่สุด ราคาของพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมก็จะมีราคาถูกที่สุดตามไปด้วย เช่น “อินเดีย” บริษัท Adani Group ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของอินเดีย เพิ่งเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เมืองคามูธี ในรัฐทมิฬนาฑูบนพื้นที่กว่า 10 ตารางกิโลเมตร มีกำลังการผลิต 648 เมกะวัตต์ และกลายเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
“ลองคิดดู หากไทยนำเข้าพลังงานแสงอาทิตย์จากอินเดีย ราคาเฉลี่ยที่ 1 บาท/ยูนิตเท่านั้น เมื่อเทียบกับก๊าซหุงต้มที่ราคาราว 4 บาท/ยูนิต ขณะที่หลายประเทศในโลกก็มีราคาพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ยต่ำกว่าพลังงานดั้งเดิมอย่างปิโตรเลียม เช่น อาบูดาบี ราคาอยู่ที่ 2.4 เซนต์/ยูนิต (0.8 บาท) ชิลี 2.12 เซนต์ (0.6 บาท) แม้แต่เยอรมนี ราคาอยู่ที่ 0.04 ยูโร/ยูนิต (1.5 บาท)”
นามกล่าวเสนอว่า ไทยเป็นประเทศเขตร้อนและมีหลายพื้นที่ที่สามารถลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ได้ แต่ปัจจุบันยังมีการลงทุนที่ค่อนข้างต่ำ ขณะเดียวกัน ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน กลายเป็นความจริงที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถบอกได้ชัดเจนว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับตัวตามโลก
สร้างอนาคต “เกษตรกรรม”
นายเดวิด ฮัทต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเกษตรกรรม กล่าวถึงความสำคัญของจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรมที่ภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทยเป็นฐานผลิตหลัก การพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตรก็เพื่อตอบโจทย์การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของอาหาร และทำให้มีราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีโอกาสที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวได้
อนาคตของภาคเกษตรนับจากนี้ จะมุ่งไปที่การคิดค้นเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อทดแทน “กำลังคน” เพิ่มความหลากหลายและการทำเกษตรให้ได้ประโยชน์สูงสุด หมายความว่าการเพาะปลูก 100% จะต้องได้ผลลัพธ์เพื่อการบริโภคและส่งออก 98-100% เช่นกัน
เขายกตัวอย่างจากเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในภาคเกษตรกรรมได้ดีมาก ปัจจุบันเกษตรกรนิยมใช้รถแทรกเตอร์ไร้คนขับ เพื่อช่วยประหยัดเวลาและแรงงานคน นอกจากนี้เทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ หรือแม้แต่เทคโนโลยีการฟักไข่ที่เรากำลังศึกษา ชื่อโปรเจ็กต์ “EggXY” เพื่อช่วยในการคัดกรองไก่เพศผู้และเพศเมียได้ง่าย และประหยัดเวลามากขึ้น
รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเลี้ยง “โคนม” คำนวณปริมาณการให้อาหารโคนมเพื่อที่จะทำให้แม่โคผลิตน้ำนมได้ดีที่สุด จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งจะช่วยคำนวณปริมาณการส่งออกให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมได้
ฮัทต์กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายด้านวัตถุดิบอาหารมากแห่งหนึ่งของโลก แต่การเพิ่มมูลค่าอาหารด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงยังไม่มาก พร้อมยกตัวอย่างประเทศที่มีเทคโนโลยีทางอาหารซับซ้อน คือ “เยอรมนี” ที่นำแมลงที่ให้โปรตีนสูงมาสกัดเป็นเนื้อสำหรับแฮมเบอร์เกอร์เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค อันนี้คือตัวอย่างที่ดีมาก ๆ
สร้างโอกาส “ดิจิทัลเฮลท์แคร์”
ขณะที่ ดร.แดเนียล คราฟ หัวหน้าด้านการแพทย์และประสาทวิทยา ของ SingularityU กล่าวว่า โรคมะเร็งและโรคหัวใจ ถือเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในเอเชีย ขณะที่ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการแพทย์ที่ทันสมัยมากแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย
ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยหากในอนาคตได้เห็นอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยถูกพัฒนาไปในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น จากที่เป็นเบอร์ต้น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจกลายมาเป็นท็อป ๆ ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือระดับโลก ซึ่งการลงทุนในเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดที่จะทำให้ไทยก้าวขึ้นในจุดนี้ได้
ทั้งนี้ ดร.คราฟยกตัวอย่างเกี่ยวกับเทคโนโลยีการแพทย์ที่กำลังศึกษาและทดลองใช้ เช่น แอปพลิเคชั่นที่ใช้สแกนร่างกายภาพเสมือนจริง (3D), โปรแกรม 3D ประเมินความเสี่ยงก่อนผ่าตัด, สมาร์ทวอตช์ที่วัดคลื่นหัวใจและชีพจร พร้อมส่งข้อมูลอัตโนมัติไปยังแพทย์เฉพาะทาง, คอนแทกต์เลนส์ที่ช่วยวัดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน, สุนัขหุ่นยนต์เพื่อช่วยดมกลิ่นหาโรคมะเร็ง, ถุงเท้าเพื่อวัดอุณหภูมิในร่างกาย, เครื่องมือขนาดเล็กที่ใช้แปะหลัง เตือนเรื่องบุคลิกภาพในการเดินและนั่ง เป็นต้น
และไม่เพียงแต่วิวัฒนาการทางการแพทย์ที่กล่าวมา ยังได้มีการทดลองใช้ “โดรน” ขนส่งเวชภัณฑ์ฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ต่าง ๆ โดยนำร่องที่ประเทศรวันดา ทวีปแอฟริกา ซึ่งบินด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง