ชาวเนวาดาไร้บ้าน ผลกระทบจาก “โรงงานเทสลา”

“กิกะแฟคตอรี” ชื่อเรียกโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนของค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา ถือเป็นโรงงานแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาด 5 แสนตารางเมตร ตั้งอยู่ที่พื้นที่ทะเลทรายทางตอนเหนือของรัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ Tahoe Reno Industrial Center (TRIC) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เทสลาตั้งเป้าจะใช้ผลิตแบตสำหรับรถยนต์กว่า 5 แสนคันต่อปี

การลงทุนของเทสลาครั้งนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมรถยนต์โลกครั้งใหญ่ แต่อันที่จริงแล้วไม่ใช่แค่ในมิติอุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้น การลงทุนของเทสลายังเป็นความหวังของรัฐเนวาดา ในการทรานส์ฟอร์มตัวเองสู่โลกอนาคต

รัฐเนวาดาเอาชนะหลายรัฐในอเมริกา ไม่ว่าจะแคลิฟอร์เนีย หรือนิวเม็กซิโก และดึงดูดใจให้ “เทสลา” เข้ามาตั้งโรงงานได้สำเร็จนับตั้งแต่ปี 2015 ทางการรัฐคาดหวังว่าการเข้ามาของโรงงานเทสลาจะช่วยสร้างงานและรายได้สู่รัฐได้มากขึ้น เปลี่ยนโฉมจากเมืองนักพนันสู่เมืองเทคโนโลยีอีกแห่ง ขณะที่เทสลาสัญญากับรัฐบาลท้องถิ่นว่าจะสร้างงานกว่าหมื่นตำแหน่ง และจะลงทุนกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐในรัฐแห่งนี้

อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่รอบ ๆโรงงานได้เกิดข้อกังขาภายหลังจากโรงงานผุดขึ้นกลางทะเลทรายว่า ข้อตกลงนั้นคุ้มค่าหรือไม่ เพราะรัฐต้องยกเว้นภาษีให้กับบรรดาบริษัทเทคโนโลยีมากมายมหาศาล ก่อนหน้านี้ เนวาดาเคยดีลกับ

“แอปเปิล” เข้ามาตั้ง “ดาต้าเซ็นเตอร์” ซึ่งมูลค่าภาษีที่จะได้รับการยกเว้นอยู่ที่ 88 ล้านเหรียญสหรัฐ และกรณีของเทสลาได้รับยกเว้นภาษีเป็นมูลค่ามากถึง1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นมูลค่ามากที่สุดของดีลทั้งหมดที่รัฐเคยส่งเสริมไม่รู้จะคุ้มทุนเมื่อไหร่ ขณะที่ภาระด้านภาษีถูกผลักกลับสู่ประชาชนผ่านการตัดสวัสดิการรัฐบางประการออกไป

ข้อตกลงของรัฐเนวาดากับเทสลานั้นทางรัฐจะยกเว้นทั้งภาษีที่ดิน ภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมไปถึงภาษีซื้อและขาย(sales-and-use tax) ในระยะเวลา 10-20 ปี หนึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของเทสลาเต็ม ๆ คือ “ชุมชนสปาร์กส์”ซึ่งตั้งห่างโรงงานเทสลาราว 20 ไมล์ ภายหลังเทสลาเปิดโรงงาน และจ้างพนักงาน ซึ่งเคลมว่ากว่า 90% เป็นชาวรัฐเนวาดา ขณะที่พนักงานและคอนแทรกเตอร์จำนวนมากย้ายเข้ามายังสปาร์กส์ มีการก่อสร้างโรงแรม ตึกใหม่มากขึ้น

แน่นอนว่าทำให้ผู้รับเหมา ช่างไฟฟ้า-ประปาแท็กซี่ และงานบริการอื่น ๆ กระเตื้องขึ้นทางการรัฐเนวาดาเชื่อว่า การเข้ามาของเทสลาจะสร้างประโยชน์ในระยะยาวรวมถึงจะช่วยปลดหนี้ของรัฐได้ในอนาคต จากการสร้างงานให้ประชากรในรัฐ

ขณะที่โฆษกของเทสลาได้แถลงว่า ภายหลังเข้ามาลงทุนในรัฐเนวาดา บริษัทได้ลงทุนด้านการศึกษา และจะลงทุน 37.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการสนับสนุนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวะ และคณิตศาสตร์ ในอนาคตเหมือนจะไปได้สวย แต่ขณะเดียวกันประชากรหลายคนได้รับผลกระทบจากราคาที่ดิน และค่าเช่าบ้านแพงขึ้น ภายหลังจากดีมานด์ที่เพิ่มเป็นเท่าตัวซึ่งก็คือกลุ่มคนที่รายได้น้อย รวมถึงวัยเกษียณ

เควิน แมคคัลลอต อดีตผู้ดูแลอพาร์ตเมนต์วัย 48 ปี ให้สัมภาษณ์กับเดอะ การ์เดี้ยน ที่ลงพื้นที่สำรวจชุมชนสปาร์กส์ระบุว่า เขาตกงานเมื่อราว 1 ปีก่อน จากนั้นเขาและภรรยาก็ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าห้องพักได้ จึงต้องย้ายมาอาศัยในเต็นท์ริมแม่น้ำรีดส์ ซึ่งมีผู้คนมากมายทยอยย้ายออกมาอาศัยบริเวณนี้จนกลายเป็นชุมชนไร้บ้าน หลังจากประสบภาวะเดียวกัน

อลิเซีย ซีเวอร์ ผู้จัดการชุมชนรถบ้านที่ริมแม่น้ำ ให้สัมภาษณ์สอดคล้องกันว่า ตอนนี้ชุมชนมีผู้เช่าเต็มอัตรากำลัง แตกต่างจาก 2 ปีก่อนหน้าที่ว่างเกินครึ่ง

เกรก รีลอยด์ ผู้อำนวยการองค์กรไม่แสวงหากำไร Good Jobs First และ มารีแอนน์ เฟลด์แมน ศาสตราจารย์ดีเด่นด้านนโยบายรัฐจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ได้ร่วมกันเขียนบทวิเคราะห์ตีพิมพ์กับเดอะ การ์เดี้ยน มีบทสรุปว่า ปัจจุบันหลาย ๆ รัฐในอเมริกาต้องการดึงดูดบริษัทไอทีให้เข้ามาลงทุน

โดยยื่นข้อเสนอสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการสร้างงานให้กับชุมชน เพราะกว่ารัฐจะเก็บภาษีได้เสมอตัวกับสิทธิประโยชน์ที่ให้ไป แทบทุกดีลต้องใช้เวลานานหลายทศวรรษ และมีความเสี่ยงต่อผู้จ่ายภาษีของรัฐนั้น ๆ ด้วย เพราะไม่รู้ว่าการลงทุนครั้งใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยีจะประสบความสำเร็จตามคาดหวังหรือไม่

ทั้งคู่ได้เสนอ 2 ทางเลือกให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นเพื่อสร้างงานและรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นวิธีที่สามารถทำควบคู่ไปกับการดึงบริษัทเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนผ่านการให้สิทธิประโยชน์ คือ 1.การสนับสนุน SMEs ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าหรือธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ถูกทอดทิ้งมานานในเชิงนโยบาย เพื่อให้กระจายงานอย่างทั่วถึง ไม่ใช่แค่งานด้านเทคโนโลยีเท่านั้น และ 2.สนับสนุนคนรุ่นใหม่หรือบริษัทของคนรุ่นใหม่ที่เกี่ยวข้องด้านเทคโนโลยี ลงทุนด้านการศึกษาในทุกระดับ

“นี่คือกลยุทธ์ระยะยาวที่น่าจะปลอดภัยกว่าการมอบสิทธิประโยชน์จากเงินของรัฐฝ่ายเดียว และนี่น่าจะเป็นหนทางการใช้รายได้ภาษีของประชาชนเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนของรัฐอย่างแท้จริง” ส่วนหนึ่งของบทความระบุ