ผู้อพยพเยเมนจุดกระแสความเกลียดกลัวชาติพันธุ์ในเกาหลีใต้ ประท้วงให้รบ.ทบทวนกฎหมายผู้ลี้ภัย

AFP PHOTO / Ed JONES

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ผู้ลี้ภัยชาวเยเมนหลายร้อยคนทำให้เกิดกระแสความเกลียดกลัวชาติพันธุ์ ปลุกให้ชาวเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ยึดมั่นในชาติพันธุ์ตัวเองลุกขึ้นมาประท้วง ให้รัฐบาลทบทวนกฏหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย

สถานการณ์รับผู้ลี้ภัยเยอรมัน-สหรัฐฯ

ผู้อพยพกว่าล้านชีวิตเลือกลี้ภัยไปยัง “เยอรมัน” หลังมีนโยบายต้อนรับผู้ลี้ภัยสงครามจากนานาประเทศเมื่อปี 2015 ขณะที่ประเทศปลายทางยอดนิยมของผู้ลี้ภัยทั่วโลกอย่าง “สหรัฐอเมริกา” กลับดำเนินนโยบายปฏิเสธผู้ลี้ภัยหลัง “โดนัล ทรัมป์” ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และขู่ว่าจะสร้างกำแพงมหึมากั้นเขตแดนระหว่าง “เม็กซิโก” กับ “สหรัฐอเมริกา” แต่กระนั้นก็ยังมีรายงานการหลบหนีข้ามแดนผิดกฏหมายจากชายแดนเม็กซิโกเดือนละกว่าพันคน

ถูกเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์ในที่สาธารณะ-โลกออนไลน์

การแบ่งแยกทางชาติพันธุ์กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ลี้ภัยในเกาหลีใต้ที่มักถูกมองว่าเป็น “ตัวประหลาด” และถูกเลือกปฏิบัติในที่สาธารณะ เช่น การถูกเยาะเย้ยว่า ‘สกปรก’ หรือ ‘ตัวเหม็น’ เมื่อโดยสารรถสาธารณะ หรือ การถูกปฏิเสธเข้าร้านอาหารหรือห้องอาบน้ำสาธารณะ

“รัฐบาลบ้าหรือเปล่า คนพวกนี้เป็นมุสลิมที่อาจจะมาข่มขืนลูกสาวเราได้!” หนึ่งในความคิดเห็นบนเว็บไซต์ Naver.com ของเกาหลีใต้ ซึ่งมีผู้กดไลค์คอมเมนท์นี้นับพันคน

ผู้ประท้วงหลายร้อยคนในเกาหลีใต้เมื่อเดือนที่ผ่านมาเรียกร้องให้ “ส่งกลับผู้ลี้ภัย” โดยมีการลงชื่อเกือบ 7 แสนรายชื่อส่งตรงไปยังเว็บไซต์ของประธานาธิบดี เพื่อให้พิจารณากฏหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย

“ยุโรปเคยเป็นเจ้าอาณานิคมของประเทศเหล่านั้น จึงมีข้อผูกมัดทางศีลธรรมที่ควรรับผู้ลี้ภัยสงครามซึ่งเป็นผู้คนจากประเทศใต้อาณานิคมเมื่อในอดีต แต่สิ่งนี้ไม่ใช่กับเกาหลีใต้” หนึ่งในผู้เรียกร้องกล่าว

AFP PHOTO / Ed JONES

คนเกาหลีไม่อยากรับผู้ลี้ภัย

ในประเทศเกาหลีใต้มีคนต่างชาติอาศัยอยู่เพียง 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนมากเป็นคนจีนและคนจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การสำรวจของรัฐบาลเมื่อปี 2015 พบว่า 32 เปอร์เซ็นต์ของชาวเกาหลีใต้ไม่ต้องการเพื่อนบ้านเป็นคนต่างชาติ สูงกว่าผลสำรวจในเรื่องเดียวกันของสหรัฐฯและจีนที่ร้อยละ 14 และ 12.2 ตามลำดับ

ผลสำรวจความคิดเห็นของคนเกาหลีใต้ต่อการรับผู้ขอลี้ภัยชาวเยเมน ฉบับล่าสุด ระบุว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของชาวเกาหลีใต้ตอบว่าไม่เห็นด้วย ขณะที่ 39 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าเห็นด้วย ส่วน 12 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือระบุว่ายังไม่ได้ตัดสินใจ

Park Seo-young นักศึกษาวัย 20 ปี จากเมืองแทจอน ซึ่งเป็นผู้ต่อต้านการรับผู้ขอลี้ภัยชาวเยเมนมาพำนักในเกาหลีใต้ กล่าวว่า “ฉันเคยได้ยินมาว่าสิทธิสตรีในเยเมนนั้นต่ำมาก และฉันกลัวว่าที่นี่จะยิ่งอันตรายมากขึ้นกว่าเดิม สถิติอาชญากรรมอาจจะสูงขึ้นก็ได้”

ส่วน Han Eui-mi นักศึกษาอีกคนกล่าวว่า “ทำไมพวกเขาต้องเลือกมาเกาหลีใต้ด้วย ทั้งๆ ที่มีประเทศใกล้เคียงในแถบนี้ให้เลือกอีกมากมาย”

เจจู: หมุดหมายปลายทางลี้ภัยของชาวเยเมน

AFP PHOTO / Ed JONES

การเปิดให้คนต่างชาติเข้ามายังจังหวัดเชจูโดยอิสระและปราศจากการขอวีซ่าก่อนถือเป็นช่องโหว่สำคัญอย่างหนึ่งของการทะลักเข้ามาของผู้ลี้ภัย

ผู้ขอลี้ภัยหน้าใหม่ประมาณ 40 คนที่เพิ่งมาถึงเกาหลีใต้และพำนักอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่งในเชจูซิตี้ นอนห้องละ 4 คนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และใช้พื้นที่ส่วนกลางทำอาหารท้องถิ่นของเยเมน

“ศพจำนวนมากกองอยู่บนพื้น ทุกที่มีแต่การต่อสู้ที่เต็มไปด้วยกระสุนและระเบิด” Mohammed Salem Duhaish ผู้ลี้ภัยชาวเยเมนวัย 33 ปี เล่าถึงสภาพของเยเมนในวันที่เขาเลือกหนีสงครามกบฎฮูตีออกมา

Duhaish เผยว่า ในตอนแรกเขาจ่ายค่านายหน้า 600 เหรียญสหรัฐสำหรับการทำวีซ่าไปยังโอมาน และไปต่อยังมาเลเซีย โดยลักลอบทำงานผิดกฏหมายเป็นระยะเวลา 3 ปี แม้ว่าเขาเคยคิดที่จะลี้ภัยไปยังสหรัฐฯ แต่เมื่อโดนัล ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีและชูนโยบายต่อต้านการรับผู้อพยพ เขาจึงตัดสินใจมุ่งหน้าไปเกาหลีใต้แทน

ผู้ลี้ภัยชาวเยเมน ซึ่งขณะนี้เขาทำงานที่สนามบินนานาชาติ Sana ระบุว่าเขาเรียนรู้ประเทศเกาหลีใต้ผ่านซีรีส์เกาหลีที่เป็นที่นิยมทั่วโลก

“เราต้องการให้รัฐบาลเกาหลีใต้และผู้คนยอมรับเรา และปฏิบัติกับเราในฐานะคนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ”

Yemeni asylum seeker Mohammed Salem Duhaish, 33, AFP PHOTO / Ed JONES