ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสามนักดำน้ำชาวอังกฤษประกอบไปด้วย ริค สแตนตัน, เจสัน มัลลินสัน, และคริส เจเวลล์ นักดำน้ำที่มีบทบาทนำในภารกิจช่วย 13 สมาชิกทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย จนประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม ได้เดินทางไปร่วมรายการ “This Morning” ของสถานีโทรทัศน์ ITV ประเทศอังกฤษ ออกอากาศเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดย ‘ริค สแตนตัน’ นักดำน้ำอังกฤษหัวใจไทย ที่คบหาอยู่กับหญิงชาวไทย สวมเสื้อที่มีลายประเทศไทยอยู่ที่หน้าอกด้วย
ในรายการสแตนตัน เล่าว่า ตนได้รับการร้องขอความช่วยเหลือในการช่วยเด็ก 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำที่มีน้ำท่วม ซึ่งจำเป็นต้องทำงานแข่งกับเวลา โดยเริ่มต้นปฏิบัติการหลังจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยไทยทำงานไปได้ 3 วันแล้ว โดยตนเริ่มต้นทำงานจากจุดที่ลึกที่สุดที่คนสามารถเดินเท้าเข้าไปถึง และต้องใช้เวลานานนับสัปดาห์กว่าที่จะถึงตัวเด็กๆ
ด้านมัลลินสัน ระบุว่า ทีมกู้ภัยนานาชาตินั้นไม่ได้พร้อมระดมพลอย่างรวดเร็วเหมือนกันเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่พร้อมทำงานตลอดเวลา ขณะที่สแตนตันเสริมว่า ครั้งสุดท้ายที่เคยมีการระดมพลเพื่อกู้ภัยในลักษณะนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศนอร์เวย์
ด้านเจเวลล์ ระบุว่า ตนและมัลลินสัน เข้าร่วมภารกิจหลังจากสแตนตัน และจอห์น โวลันเธน หลายวัน โดยตนได้รับบรีฟเกี่ยวกับงานกู้ภัยดังกล่าวว่า เป็นงานที่ไม่ได้มีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จทั้งหมด เราจึงค่อนข้างหวาดหวั่นเกี่ยวกับภารกิจนี้ โดยตนและมัลลินสัน ได้รับหน้าที่ในการขนสิ่งของจำเป็นไปให้เด็กๆ และได้สังเกตถึงสภาพภายในถ้ำซึ่งพบว่าระดับน้ำลดลงต่ำกว่าที่คาดไว้จึงเริ่มต้นวางแผนที่จะนำตัวเด็กออกมา
เจเวลล์ ระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเราได้ลองวิธีการบางอย่างที่ยังไม่เคยทำมาก่อนเช่นกัน นั่นจึงทำให้มีความหวั่นใจว่าภารกิจอาจไม่ประสบความสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์
ด้านสแตนตัน เล่าด้วยว่า ตนเข้าถึงตัวเด็กพร้อมกับจอห์น โวลันเธน เป็นกลุ่มแรก ในตอนนั้นตนกับโวลันเธน ว่ายอยู่บนผิวน้ำและปรึกษาหารือกันนิดหน่อยเพราะทั้งคู่ว่ายไปสุดเส้นเชือกแล้ว โดยสแตนตันระบุว่า ตนใช้การดมกลิ่นมนุษย์ในอากาศ ในเวลานั้นเด็กๆได้ยินเสียงตนคุยกับโวลันเธน ในเวลาเดียวกันตนก็เห็นแสงไฟจากเด็กๆ ก่อนที่เด็กๆจะปรากฏตัวขึ้นทีละคนๆจากบนเนินจนครบ 13 คน
สแตนตันระบุต่อว่า ตนไม่คิดว่าเด็กๆจะสามารถอยู่ในนั้นได้ยาวนานถึง 4 เดือน เนื่องจากไม่สามารถสะสมเสบียงเอาไว้ได้เพียงพอ
ด้านมัลลินสัน เสริมว่า อากาศภายในนั้นแย่มาก ด้านกองทัพไทยมีแผนจะวางท่อออกซิเจนเข้าสู่ภายในแต่นั่นก็ไม่ได้เกิดขึ้นดังนั้นทางเดียวก็คือต้องนำเด็กออกมา
ในส่วนของความอันตรายของภารกิจ มัลลินสัน เล่าว่าตนไม่ได้ห่วงอันตรายของตนเอง แต่ห่วงสวัสดิภาพของเด็กๆในฐานะคนที่ต้องรับผิดชอบชีวิตของเด็กๆ โดยมัลลินสัน ยอมรับว่าตนมีความกังวลมากๆในช่วงเวลาที่ต้องนำตัวเด็กจากจุดนั้นลงไปยังเส้นทางที่มีน้ำท่วม โดยเฉพาะในช่วง 5 ถึง 10 นาทีแรกที่ต้องคอยสังเกตจังหวะการหายใจของเด็กๆจากฟองอากาศตลอดเวลา
มัลลินสัน ระบุถึงการให้ยาสงบกับเด็กๆด้วยว่า ในช่วงเวลานั้นเด็กๆอยู่ในสภาพเกือบจะหมดสติ และว่านั่นเป็นวิธีเดียวที่จะรอดชีวิตเพราะนักดำน้ำต้องป้องกันตัวเองและไม่ต้องการให้เด็กๆตื่นตระหนกเวลาอยู่ในน้ำ
เมื่อพิธีกรถามว่า ทำไมถึงไม่มองว่าตัวเองเป็นฮีโร่ มัลลินสัน ระบุว่า เราแค่ทำในสิ่งที่เรามีประสบการณ์และทำมาตลอดระยะเวลา 25 ปี และเราก็รู้สึกยินดีที่ได้ใช้ทักษะนั้นในการช่วยผู้คน เราไม่ออกไปตรงนั้นเพื่อเรียกร้องคำว่าฮีโร่ หรือสิ่งใดๆ