กงสุลใหญ่ฯ ‘เอสโตเนีย’ ถ่ายทอดระบบ ‘e-Government’ สู่ไทย

ด้วยความที่ “เอสโตเนีย” ประเทศเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตยุโรปเหนือ ติดกับอ่าวฟินแลนด์และทะเลบอลติก ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินว่าเอสโตเนีย คือ “ซิลิคอนวัลเลย์แห่งยุโรป” เลื่องลือในด้านการพัฒนาระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “e-Estonia” โดยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นแพลตฟอร์มในการขับเคลื่อน

ในวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ ประธานคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์และกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์สาธารณรัฐเอสโตเนีย ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ไปบรรยายความสำเร็จของประเทศเอสโตเนีย ในหลักทางความคิดและการทำงานในระบบ “e-Government” หรือ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ digital technology” ในการให้บริการประชาชนที่รวดเร็ว แม่นยำ และโปร่งใส ยากต่อการปลอมแปลง หรือการถูกขโมยข้อมูล

ดังนั้น การคอรัปชั่นจึงทำได้ยากมากเพราะข้อมูลของรัฐในทุกระดับสามารถถูกตรวจสอบได้ตลอดเวลา โดยหน่วยงานที่มีอำนาจในการกำกับ ในลักษณะ real-time

ปัจจุบันรัฐบาลเอสโตเนีย ให้บริการประชาชนโดยทางอินเทอร์เน็ตกว่า 96% และจะมีเพียงไม่กี่นิติกรรมที่ยังจะต้องไปปรากฎตัว อาทิ การจดทะเบียนแต่งงานและหย่าร้าง เป็นต้น 

ทั้งนี้ ดร.วีระชัย ได้กล่าวว่า e-government จะสำเร็จได้ก็จะต้องมีเสาหลักสามเสา ได้แก่ 1.Confidentiality หรือการรักษาความลับ คือต้องไม่มีใครเข้าไปดูข้อมูลส่วนตัวของเราได้โดยเด็ดขาด (มีระบบ electronic-ID) 2. Secured Data Exchange หรือ การแลกเปลี่ยนข้อมูล ต้องไม่ให้ใครเจาะได้ หรือแม้หากเจาะได้ก็ทำได้เพียงเฉพาะ Encrypted code แต่ไม่ใช่ข้อมูล (มีระบบ x-Road) และ 3. Database integrity คือ ระบบฐานข้อมูลต้องไม่มีใครสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้โดยพลการ แต่ต้องให้ทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่เดียวกันยินยอมก่อน หรือที่เรียกกันว่า “ระบบ Blockchain”