อาวุธหนักของจีน ในสงครามการค้า

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

มาตรการทางการค้าที่สหรัฐอเมริกางัดออกมาใช้ เพื่อบังคับให้จีนเปิดการเจรจาเงื่อนไขการทำการค้ากับตนเองเสียใหม่ ส่อเค้าว่าจะลุกลามออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเมื่อเดือนมิถุนายนรวมมูลค่าทั้งสิ้น 34,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถูกทางการจีนโต้ตอบด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกันในมูลค่าเท่ากันมาแล้ว

สัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม สหรัฐก็กางรายการสินค้าจากจีนที่จะขึ้นภาษีระลอกใหม่อีกรวมมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์

ผ่านไปยังไม่ทันไร โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ออกมาเปรยเป็นเชิงขู่อีกว่า อาจตัดสินใจสั่งให้ขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากจีน รวมมูลค่าทั้งหมดเท่ากับที่สหรัฐอเมริกานำเข้ามาในปี 2017 คือ 505,000 ล้านดอลลาร์

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริการวมมูลค่าทั้งหมดเพียงแค่ 130,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

ดังนั้น จีนจึงไม่มีวันที่จะตอบโต้สหรัฐได้อย่างสมน้ำสมเนื้อแน่นอนใช่หรือไม่ ?

คำตอบจริง ๆ ก็คือ ไม่ใช่ เพราะการค้าเป็นเพียงมิติเดียวของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสองเท่านั้นเอง ยังคงมีเรื่องทางด้านการเงินการลงทุนระหว่างกันอีกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญก็เชื่อว่า จีนไม่จำเป็นต้องตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีเพียงอย่างเดียว แต่ยังตอบโต้กลับได้อีกหลายทางมาก

เจราร์โด ซาโมราโน ผู้อำนวยการกลุ่มลงทุน แบรนเดส อินเวสเมนท์ พาร์ทเนอร์ส ยกตัวอย่างว่า จีนสามารถทำได้ตั้งแต่เล่นงานบริษัทอเมริกันด้วยการเรียกร้องผ่านกลไกของรัฐให้งดเดินทางไปสหรัฐอเมริกา หรืองดซื้อสินค้า “เมดอินอเมริกา” เรื่อยไปจนถึงออกข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่ทำให้การดำเนินธุรกิจของคนอเมริกันลำบากมากขึ้น เช่น การทำให้การนำเงินออกนอกประเทศยากมากขึ้น หรือการเรียกเก็บภาษีธุรกิจบางประเภทของคนอเมริกันในจีนเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น

ซาโมราโนบอกว่า จีนไม่ต้องประกาศเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ เพียงแค่หลิ่วตาแล้วให้บรรดาสื่อของรัฐทั้งหลายเป็นคนจัดการ ซึ่งก็เคยปรากฏให้เห็นมาแล้ว

ตัวอย่างเช่น เมื่อจีนขัดแย้งกับเกาหลีใต้เรื่องการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ อยู่ดี ๆ ส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์เกาหลีในจีนลดฮวบ หรือในกรณีของฮ่องกงที่เกิดการเดินขบวนต่อต้านจีน เรียกร้องอิสระมากขึ้นเมื่อปี 2016 ทัวร์จีนก็เลิกไปฮ่องกงกันทั้งหมด โดยที่รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลย เป็นต้น

วิธีการอีกอย่างที่จีนสามารถทำได้ และทำให้การขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกาไม่มีความหมายไปเลยก็คือ การลดค่าเงินหยวน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคน อย่างเช่น ซัลแมน เบจ ผู้จัดการกองทุนเพื่อการลงทุนยูนิเกสชั่น ในนครเจนีวาบอกว่า เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการชดเชยผลกระทบจากกำแพงภาษี

เหตุผลของเบจก็คือ ค่าเงินที่ลดลงทำให้ราคาสินค้าของจีนถูกลง ถ้าลดลงมากพอเมื่อขึ้นภาษีนำเข้าแล้ว ราคาสินค้าบวกกับภาษีใหม่แล้วก็อาจทำให้สินค้าจากจีนมีราคาเท่ากับก่อนที่จะมีการขึ้นภาษีนั่นเอง

เบจตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ค่าเงินหยวนของจีนเมื่อเทียบกับดอลลาร์แล้วอ่อนค่าลงมาราว 8 เปอร์เซ็นต์แล้ว ถ้าหากสหรัฐขึ้นภาษี 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าจีนจริง ๆ ก็เพียงแค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

ที่สำคัญคือ ค่าเงินของประเทศที่ตกเป็นเป้าสงครามการค้าจะอ่อนค่าลงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ยิ่งถูกตั้งกำแพงภาษีสูงมากเท่าใด ค่าเงินยิ่งอ่อนลงมากเท่านั้น นั่นคือทางการจีนแทบไม่จำเป็นต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใด เพียงระวังไม่ให้ค่าเงินของตนอ่อนตัวลงมากเกินไปและเร็วเกินไปเท่านั้นเอง

คริสตินา ฮูเปอร์ หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์โลกของอินเวสโก กองทุนเพื่อการลงทุนในสหรัฐอเมริกาบอกว่า อาวุธหนักจริง ๆ ในสงครามการค้าของจีนก็คือ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ออกโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งจีนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ถือครองอยู่มากที่สุดในโลก จากข้อมูลอย่างเป็นทางการของสหรัฐอเมริกา จีนถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเมื่อปี 2017 อยู่มีมูลค่ารวมสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์

ถ้าจีนเทขายออกมา นอกจากจะทำให้ราคาพันธบัตรลดลงแล้ว ยังทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ ผลตอบแทนที่สูงขึ้นหมายถึงรัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องจ่ายค่าตอบแทนในการออกพันธบัตรเงินกู้ใหม่สูงขึ้น เช่นเดียวกับที่บริษัทอเมริกันที่ออกพันธบัตรหรือตราสารหนี้เพื่อระดมทุนก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

มีเหตุผลมากมายที่จีนยังไม่ดำเนินมาตรการนี้ตอบโต้สหรัฐ รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ว่าต้องชักเนื้อเสียมูลค่าพันธบัตรในส่วนที่เหลืออยู่ตามไปด้วย พร้อมกันนั้นก็ยังไม่มีทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยเหมือนการถือครองดอลลาร์ในเวลานี้ แต่ถ้าถูกบีบถูกผลักดันจากสหรัฐอเมริกามาก ๆ ก็ไม่แน่นัก จีนอาจเลือกทางนี้เพื่อสร้างแรงกดดันมหาศาลให้กับรัฐบาลอเมริกันก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลงบประมาณอยู่มหาศาล จ่อทะลุ 800,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2018 อยู่รอมร่อเช่นนี้

ฮูเปอร์เปรียบเทียบวิธีนี้ไว้ว่า เหมือนการยิงนิวเคลียร์ถล่มรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ยังไงยังงั้นเลยทีเดียว